วันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2559

เรื่องที่ ๘ เมื่อข้าพเจ้าเป็นเด็กห้วตลาด

เมื่อเอ่ยคำว่าหัวตลาดไม่มีชาวปัตตานีคนใดที่ไม่รู้จัก  หัวตลาดเป็นย่านชุมชนเก่าแก่แห่งหนึ่งของปัตตานี เป็นถิ่นที่อยู่ของชาวจีนมาตั้งแต่สมัยโบราณเดิมเรียกว่า ตลาดจีน  หรือ กะดาจีนอ ข้าพเจ้าเป็นผู้หนึ่งที่โชคดีได้เติบโตมาในถิ่นหัวตลาด ตลอดระยะเวลา 30 ปีเศษที่ ข้าพเจ้าได้เห็น หัวตลาด พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปมากตามความเจริญของบ้านเมือง ข้าพเจ้าจึงเกิดความคิดที่จะบันทึกเรื่องราวของหัวตลาดในสมัยที่ข้าพเจ้าเป็นเด็กในลักษณะของการบอกเล่าตามความทรงจำ ซึ่งบางตอนอาจคลาดเคลื่อนแต่ก็เพียงเล็กน้อย ทั้งนี้เพื่อที่คนรุ่นหลังที่มีโอกาสได้อ่านบทความของข้าพเจ้าจะได้รับรู้เรื่องราวในอดีตของชุมชนหัวตลาด

ก่อนอื่นก็ต้องแนะนำให้ท่านรู้จักกับ ถนนอาเนาะรู เสียก่อน เพราะถนนอาเนาะรูเป็นถนนสายหลักของหัวตลาด และเป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ของข้าพเจ้ากับหัวตลาด  ถนนสายนี้มีแนวถนนพาดจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก มีความยาวประมาณ 400 เมตร  หัวถนนฝั่งตะวันออกไปบรรจบกับถนนนาเกลือ  ส่วนหัวถนนฝั่งตะวันตกเป็นแม่น้ำปัตตานี ก่อนถึงริมน้ำเล็กน้อยจะเป็นสี่แยกตัดกับถนนปัตตานีภิรมย์ ในช่วงตอนกลางของถนนอาเนาะรูจะมีถนนปะนาเระมาบรรจบเป็นสามแยก เดิมทีถนนอาเนาะรูเป็นถนนคอนกรีต แต่คอนกรีตที่ว่านี้ไม่ใช่คอนกรีตเสริมเหล็กหรือ คสล.นะครับ แต่เป็นคอนกรีตโบราณคือแทนที่โครงจะเป็นเหล็กกลับใช้วัสดุธรรมชาติคือไม้ไผ่ โดยใช้ไม้ไผ่มาวางสานกันเป็นโครงแล้วราดด้วยปูนขาวทับ ต่อมาภายหลังมีการซ่อมแซมอีกหลายครั้งจนกระทั่งในที่สุดก็กลายเป็นถนนราดยางมะตอยตามที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ แทบจะไม่น่าเชื่อเลยนะครับว่าถนนสายเล็กๆสายนี้จะเป็นย่านที่มีความเจริญมากในอดีต เต็มไปด้วยเรื่องราวแห่งประวัติศาสตร์ เป็นจุดกำเนิดของตระกูลใหญ่หลายตระกูล ซึ่งข้าพเจ้าคงมีโอกาสได้เล่าให้ท่านฟังต่อไปในภายหน้าครับ


เดิมทีครอบครัวข้าพเจ้าอยู่ที่จังหวัดนราธิวาส เพราะพ่อไปช่วยป้าละอองทำธุระกิจที่นั่น ข้าพเจ้าและน้องๆจึงเกิดที่นราธิวาส แต่ไปแจ้งเกิดที่ปัตตานีกันทุกคน จนกระทั่งปี พ..2509 คุณย่าเสริมสุขถึงแก่กรรม  พ่อจึงย้ายกลับมาอยู่ที่ปัตตานี ขณะนั้นข้าพเจ้ามีอายุได้ 5 ปี สามารถจดจำเรื่องราวต่างๆได้พอสมควร ครอบครัวเราอาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ 29 ถนนอาเนาะรู   ซึ่งเป็นบ้านของนายอนันต์ คณานุรักษ์ คุณปู่ของข้าพเจ้า บ้านหลังนี้ตั้งอยู่ตรงสามแยกถนนอาเนาะรูตัดกับถนนปะนาเระ เป็นตึก 2 ชั้น หันหน้าไปทางทิศใต้ ทาสีขาว ผู้คนส่วนใหญ่จึงเรียกว่าบ้านตึกขาว แรกเริ่มเดิมทีบ้านหลังนี้เป็นบ้านของคุณพระจีนคณานุรักษ์(ตันจูล้าย) ซึ่งเป็นปู่ของคุณปู่อนันต์ เป็นตึก 2 ชั้น ทรงจีนโบราณ ก่อสร้างในราวปี พ..2426   พระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 เคยแวะประทับเมื่อครั้งที่เสด็จประพาสตลาดจีน และศาลเจ้าแม่ลิ่มกอเหนี่ยว ภายหลังตกเป็นกรรมสิทธิ์ของคุณย่าทวดยาง ภรรยาคนที่ของคุณปู่ทวดพระจีนฯ ต่อมาคุณทวดกุ้ยกี ธิดาคุณย่าทวดยางได้ ขายให้คุณย่าทวดยี่เหนี่ยว ภรรยาคนที่ 3ของคุณปู่ทวดพระจีนฯ คุณปู่อนันต์ได้ซื้อต่อจากคุณทวดยี่เหนี่ยวเมื่อ พ..2476 ในราคา 2,200 บาท คุณปู่ได้บันทึกไว้ในสมุดบันทึก เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ..2486 ว่านับเป็นโชคดีของท่านที่ได้บ้าน หลังนี้กลับมาเป็นกรรมสิทธิ์ เพราะเมื่อคุณทวดอิ่มมารดาของคุณปู่กำลังตั้งครรภ์ คุณทวดขุนจำเริญภักดี(ตันบั้นฮก) บิดาของคุณปู่มีธุระต้องรีบเดินทางเข้ากรุงเทพฯ จึงได้นำคุณทวดอิ่มซึ่งจวนจะคลอดไปฝากไว้กับคุณย่าทวดยางที่บ้านหลังนี้ และคุณทวดอิ่มได้คลอดคุณปู่  เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ..2439 ที่เรือนเล็กบริเวณหลังบ้านเลขที่ 29 ถนนอาเนาะรูแห่งนี้ คุณปู่อนันต์ได้ทำการซ่อมแซมเปลี่ยนแปลงจากตึกจีนโบราณเป็นตึกทรงทันสมัย บริเวณบ้านแบ่ง เป็น 3 ตอน ด้านหน้าคือตัวตึก ตอนกลางเป็นเรือนไม้หลังใหญ่ 2 ชั้น มีทางเดินติดต่อกับตึกหน้าได้ ตอนหลังเป็นห้องครัว และสวน


บ้านตึกขาว เดือนตุลาคม พ.ศ.๒๔๙๔


หน้าบ้านตึกขาว เดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๔๙๔

ตัวตึกด้านหน้าเป็นตึก 2 ชั้น ชั้นล่างทางด้านซ้ายเป็นที่จอดรถ ตรงกลางเป็นห้องรับแขก ที่ห้องรับแขกจะมีประตูเดินออกไปตอนกลางของบ้าน ๒ ประตูซ้ายขวา เหนือประตูทั้ง ๒ ข้างมีรูปวาดคุณปู่ทวดพระจีนคณานุรักษ์ และคุณทวดขุนจำเริญภักดีแขวนเหนือประตู ด้านขวาของตัวตึกหน้าเป็นห้องพักของลุงสุนนท์ ห้องนี้เล่ากันว่ามีอาถรรพ์แรงเพราะเคยเป็นห้องขังทาสในสมัยก่อน เมื่อขึ้นบันไดไปชั้นบนจะเป็นเฉลียง มีแคร่นอนเล่นของคุณย่า และเก้าอี้หวายนอนเล่นของคุณปู่ มีประตูเข้าห้องโถง เหนือประตูมีภาพวาดคุณปู่ทวดพระจีนฯ ด้านซ้ายขวาเป็นภาพวาดคุณปู่ และคุณย่า ภาพวาดชุดนี้เป็นฝีมือการวาดของนายบุญหิ้น ชูอ่องสกุล หรือที่ผมเรียกว่าน้าขี้หมิ้น ช่างพ่นสีรถยนต์มือหนึ่งของปัตตานี เข้าห้องโถงชั้นบนไป ด้านซ้ายเป็นห้องพักของคุณปู่ ส่วนด้านขวาเป็นห้องพักของครอบครัวข้าพเจ้า  ในห้องโถงจะมีโต๊ะหมู่บูชาของคุณปู่ ข้างโต๊ะหมู่บูชาจะมีตู้กระจกใบหนึ่ง ภายในตู้จะเก็บซากลูกกรอกหรือกุมารทอง 2 คน คือบุญฤทธิ์ และบุญลาภ ซึ่งเป็นลูกแฝดที่คุณย่าคลอดก่อนกำหนด นอกจากนี้ยังมีซากของนกลูกแดง ซึ่งเป็นนกเขาชวาที่คุณปู่รักมาก เคยสร้างชื่อเสียงให้กับคุณปู่ในการแข่งขันนกเขาชวาเสียงครั้งอดีต เคยมีผู้นำรถเบนซ์มาขอแลกกับคุณปู่มาแล้ว

ชั้นบนบ้านตึกขาว เดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๔๙๔

โถงกลางชั้นบน ด้านซ้ายคือห้องปู่ ด้านขวาคือห้องข้าพเจ้า

กุมารทองและเครื่องเรือนภายในตู้

             

เรือนไม้ด้านหลังชั้นล่างจะเป็นโถงโล่ง ด้านขวากั้นเป็นห้องไว้ 2 ห้อง เอาไว้เป็นห้องเล่นไพ่ตองของบรรดาญาติมิตรของคุณปู่คุณย่า ห้องนี้เป็นแหล่งเงินแหล่งทองของข้าพเจ้า   เพราะบรรดาขาไพ่ทั้งหลายซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุนั่งนานๆก็เกิดอาการปวดเมื่อย ข้าพเจ้าก็จะไปบริการบีบนวดให้ ท่านเหล่านั้นก็จะให้เงินไว้กินขนมครั้งละ 1 บาท เมื่อขึ้นบันไดหลังชั้นบนด้านซ้าย เป็นห้องพักของครอบครัวอาเติมศักดิ์  ด้านขวาเป็นห้องพักของครอบครัวอาละมุล

ระหว่างตัวตึกหน้ากับเรือนไม้ ชั้นล่างจะมีบ่อเลี้ยงปลากัด และห้องน้ำกับบ่อน้ำ ชั้นบนจะเป็นทางเดินติดต่อกันมีห้องน้ำ 1 ห้อง และวางโต๊ะกินข้าวขนาดใหญ่ 1 ตัว นอกจากนี้ที่โถงด้านล่างจะมีประตูเล็กๆ สำหรับเดินออกไปในตรอก ตรอกเล็กๆนี้เป็นที่เลี้ยงปลากัดของคุณปู่ และลุงสุนนท์ เป็นเขตหวงห้ามสำหรับเด็กๆ เพราะเกรงว่าจะไปทำให้ปลากัดตกใจ หรือขวดปลากัดตกแตก ตรอกนี้เดิมเป็นตรอกสำหรับข้าทาสในบ้านเดินเข้าออก ซึ่งทุกบ้านที่เป็นเรือนจีนในหัวตลาดจะต้องมีตรอกแบบนี้ เพราะมีข้อห้ามอย่างหนึ่งว่าเวลาข้าทาสในบ้านตายห้ามนำศพ ออกทางประตูใหญ่หน้าบ้าน ต้องนำศพออกทางตรอกนี้เท่านั้น
             

ด้านหลังเรือนไม้จะมีโรงครัวขนาดย่อมและสวน ในสวนจะมีบ่อปลาเหมือนกับที่ด้านหน้า บ่อหลังบ้านนี้เดิมทีขุดขึ้นมาเพื่อใช้เป็นหลุมหลบภัยเมื่อคราวญี่ปุ่นบุกปัตตานี  ที่บริเวณริมกำแพงหลังบ้านมีความสำคัญ เพราะว่าในงานเทศกาลแห่พระศาลเจ้าแม่ลิ่มกอเหนี่ยวทุกปี ผู้หามพระหมอจะต้องมาทำการปักหลัก โดยหลักที่ปักนี้เป็นยันต์ปักเพื่อขจัดเภทภัยทั้งหลาย บ้านหลังนี้เป็นบ้านหลังเดียวที่มีการปักหลักภายในบ้าน ในปัจจุบันนี้ข้าพเจ้าจะทำหน้าที่หามเกี้ยวพระหมอทำพิธีปักหลักในบ้านทุกปี
              

ภายในบ้านคุณปู่นับว่าเป็นกงสีใหญ่แห่งหนึ่ง คุณปู่จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด เช้าขึ้นมาจะมีอาหารและขนมสารพัดอย่างวางไว้ที่โต๊ะกินข้าว ใครจะกินอะไรก็ได้ เมื่อกินอาหารเช้าเสร็จ  ข้าพเจ้าและน้องๆ ก็จะไปกราบคุณปู่ซึ่งจะนอนเล่นที่เก้าอี้หวาย คุณปู่ก็จะแจกเงินเป็นค่าขนมที่โรงเรียน ตอนเย็นกลับจากโรงเรียนก็มากราบคุณปู่แล้วรับเงินไปซื้อก๋วยเตี๋ยวกินกันอีก 

บ่อปลากัดกลางบ้าน ด้านหลังคือห้องเล่นไพ่

บรรยากาศชั้นบน เสาบังห้องน้ำชั้นบนของย่าพอดี
ตรงข้ามบ้านคุณปู่เป็นบ้านยกพื้นมีใต้ถุนของลุงจิ้นกับป้าโป้เอง ศรีคุณะซ้าย  ลุงจิ้นหรือที่ ใครๆเรียกว่าครูจิ้นทำงานที่บริษัทธำรงวัฒนาจำกัด ป้าเองเป็นญาติกับคุณปู่ทางคุณย่าทวดเบ้งซ่วน ภรรยาคุณปู่ทวดพระจีนฯ  ซึ่งเป็นย่าของคุณปู่ ที่บ้านลุงจิ้นจะมีเรือนปลูกต้นกล้วยไม้นานาพันธุ์   ตอนเย็นที่หน้าบ้านลุงจิ้นจะมีพวกรถเข็นขายก๋วยเตี๋ยว และรถเข็นขายขนมเด็กมาจอดรอลูกค้า ซึ่งก็คือพวกหลานทั้งหลายของคุณปู่  
             

ต่อไปนี้ข้าพเจ้าจะขอนำท่านเที่ยวหัวตลาดเมื่อประมาณสี่สิบปีที่แล้ว จากบ้านคุณปู่เดินเลียบไปทางฝั่งด้านเหนือของถนนอาเนาะรูไปทางทิศตะวันออก ติดกับบ้านคุณปู่จะเป็นตึกจีนโบราณ 2 ชั้น ติดกัน 2 หลัง จำได้คลับคล้ายคลับคลาว่าหลังแรกผู้ที่อาศัยอยู่ขณะนั้นคือป้าจงจิตร ศรีพจนารถหรือ ป้าถิ้น แม่ของพี่ศรีวิไล ปริชญากร ถัดไปเป็นร้านขายส่งขนมปังขนมจันอับตามตลาดนัด เดิมในอดีตตึก 2 หลังนี้และตึกของคุณปู่จะมีลักษณะเหมือนกันทุกอย่างเป็นเรือนแฝด 3 หลัง ดังที่สมเด็จกรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงกล่าวถึงไว้ในหนังสือชีวิวัฒน์เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จมาตลาดจีน ในปี พ..2427 ว่าที่ปลายถนนด้านเหนือมีตึกใหม่ของกัปตันจีนเป็นเรือนจีน 2 ชั้น 3 หลังแฝด หลังหนึ่งขื่อประมาณ 10 ศอก มีเฉลียงหน้าหลัง หลังแรกก็คือบ้านคุณปู่ หลังที่ 2 เป็นบ้านเดิมนายจูเซียน หลังที่ 3 เป็นของนายจูเส้ง น้องชายคุณปู่ทวดพระจีนฯ ปัจจุบันตึกหลังที่ถูกรื้อสร้างเป็นห้องแถว เมื่อตอนที่มีการรื้อถอนได้เจอป้ายหินแกรนิตจารึกชื่อสำหรับ ฮวงซุ้ยฝังศพนายจูเส้ง แต่ไม่ทราบว่าเพราะเหตุใดจึงถูกทิ้งไว้หลังบ้าน ปัจจุบันผู้ที่อาศัยอยู่ในห้องแถวที่สร้างใหม่ได้นำไปวางไว้ที่โคนต้นไม้และมีการจุดธูปเทียนบูชา ซึ่งข้าพเจ้าเข้าใจว่าคงเป็นการบูชาเพื่อขอโชคลาภ ซึ่งข้าพเจ้าคิดว่าลูกหลานสายตรงของนายจูเส้งน่าจะได้นำไปไว้บูชา  ถ้าข้าพเจ้ามีสิทธิก็จะขอนำไปประดิษฐานไว้ที่บริเวณสุสานของตระกูล ที่ได้รับ พระราชทานที่ดินจากรัชกาลที่ 6 ที่ริมคลองสามัคคี(คลองสิมิเงาะเดิม) ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน พ..2454   เพราะปัจจุบันเท่าที่ข้าพเจ้าได้สอบถามยังไม่มีผู้ใดบอกได้แน่ชัดว่าฮวงซุ้ยของนายจูเส้ง อยู่ที่แห่งหนตำบลใด  แต่ข้าพเจ้าก็ได้แต่ตั้งความหวังไว้เท่านั้น (ปัจจุบันทายาทสายนายจูเส้ง ได้นำไปไว้ ณฮวงซุ้ยจำลองนายจูเส้ง ที่จังหวัดยะลา)   
        

ถัดจากตึกแฝดนี้ไปก็เป็นตึกจีนเช่นกันแต่จำไม่ได้ว่าใครอาศัยอยู่ปัจจุบันรื้อทิ้งแล้ว ถัดไปอีก จะเป็นห้องแถวไม้ 2 ชั้น ห้องแรกเป็นบ้านลุงปรุง กับป้าฉาย ขจรวงศ์ ลุงปรุงทำงานเป็นพนักงานขับรถธนาคารกรุงศรีอยุธยา น้าณีลูกลุงปรุงมีลูก 3 – 4 คน เป็นเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกับข้าพเจ้า 1 คน  ถัดจากบ้านลุงปรุงเป็นบ้านยายสุจิตรแม่คุณครูเบญจมาศ ณ ระนอง คุณครูเบญจมาศสอนที่โรงเรียนบ้านสะบารัง เคยสอนวิชาภาษาอังกฤษข้าพเจ้าตอนชั้นประถมปีที่ต่อจากนั้นเป็นบ้านยกพื้น 2 ชั้น มีรั้วของน้าจั๊ม ภายในบริเวณบ้านมีหมูขี้พร้าหรือหมูบ้านนอนคลุกโคลนอยู่ ถัดไปเป็นห้องแถวไม้ 2 ชั้น มีบ้านน้าไข่ บ้านลุงไว ลุงไวเป็นสารถีรถสามล้อประจำบ้านคุณปู่ ถัดไปเป็นบ้านพวกนามสกุลวิมลจิตต์ทำงานสรรพากร จำชื่อไม่ได้ ปัจจุบันคือร้านลูกหยีป้านิ่ม ถัดไปเป็นบ้านของคุณยายหงวน คุณยายหงวนเป็นภรรยาคนหนึ่งของหลวงนฤบดินทรสวามิภักดิ์(คอยู่หุ้ย ณ ระนอง) อดีตนายอำเภอหนองจิก มีลูกคือ ร...ปรีดา ณ ระนอง น้าดาเป็นเพื่อนสนิทคนหนึ่งของพ่อ ภรรยาน้าดาคือครูเบญจมาศ ที่กล่าวถึงมาก่อนแล้ว ถัดไปรู้สึกจะเป็นบ้านแป๊ะซ้าน มีลูกหรือหลานชื่อตุ๋ย เรียนรุ่นก่อนข้าพเจ้าหลายปี จากนั้นก็เป็นศาลเจ้าแม่ลิ่มกอเหนี่ยว ซึ่งในขณะนั้นมีแต่ตัวศาล  ด้านหลังเป็นป่ามะพร้าว ยังไม่มีอาคารสันติสุขและอาคารที่พักเลย ฝั่งตรงกันข้ามของศาลเจ้าแม่ฯ ก็ยังเป็นลานดินกว้างๆมีแต่โรงมโนราห์เก่า 1 หลัง ไม่มีอัฒจันทร์ ไม่ได้ลาดพื้นคอนกรีต ถัดจากศาลเจ้าแม่ฯเป็นสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์  ด้านข้างสมาคมฯเป็นอาคารฮักเลี่ยม-ฮ่องเกียว โกวิทยา เป็นศาลาตั้งศพมีห้องเก็บโลงศพซึ่งพวกเราเด็กๆกลัวมากเวลาเดินผ่าน   ติดกับอาคารฮักเลี่ยมฯ เป็นที่ดินของคุณปู่ข้างในมีสถูป หรือที่เราเรียกกันว่า บัว บรรจุกระดูกบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ที่ดินแปลงนี้คุณปู่ซื้อมาจากคุณทวดเป้าเลี่ยง วัฒนายากร แม่ของคุณย่าเสริมสุข ในสมัยสงครามญี่ปุ่นบุกปัตตานี คุณปู่ใช้เป็นที่ปลูกผัก สวนครัวนานาชนิดไว้กินและแจกจ่ายชาวบ้านในละแวกใกล้เคียง จนกระทั่ง พ..2489 จึงได้สร้างบัว ติดกับบัวเป็นที่ว่างอยู่มุมถนนอาเนาะรูตัดกับถนนนาเกลือต่อมาได้สร้างเป็นบ้านพักประมงจังหวัดเดิมทีที่ตรงนี้เป็นโรงฆ่าสัตว์  จากตรงนี้ถ้าข้ามถนนนาเกลือไปจะเป็นวัดนิกรชนารามหรือวัดหัวตลาด ภายในวัดมีรูปปั้นพระสังข์กัจจายน์องค์ใหญ่ ผู้ปั้น คือ ร..วิเชียร แก่นทับทิม อดีตสามีของป้าประคอง วัฒนายากร  พวกเด็กๆอย่างข้าพเจ้าชอบไปแยงสะดือองค์พระเพราะเป็นรูกลวงโบ๋  วัดหัวตลาดนี้เดิมเป็นป่าช้า ศพคุณทวดอิ่ม แม่ของคุณปู่ก็ฝังที่นี่ ก่อนที่จะมาจัดงานเผาศพในภายหลัง  นอกจากนี้วัดหัวตลาดยังเป็นลานประหารในสมัยอดีต คุณย่าเคยเล่าให้พ่อฟังว่าเคยไปดูเขาประหารชีวิตโดยการตัดคอที่วัดหัวตลาด มีคนไปดูคับคั่งบางคนปีนต้นไม้ขึ้นไปดู พอเพชรฆาตลงดาบดังฉับ ก็มีเสียงดังตุ๊บ  ปรากฏว่าพวกที่ปีนต้นไม้ดูเกิดอาการหวาดเสียว เป็นลมตกต้นไม้ตามๆกัน วัดหัวตลาดจะเรียกว่า เป็นฌาปนสถานของตระกูลข้าพเจ้าก็ว่าได้เพราะไม่ว่าใครตายก็จะจัดงานเผาศพที่วัดนี้ทั้งนั้น

ถนนอาเนาะรูมองจากบ้านตึกขาวไปทางสามแยกวัดหัวตลาด

ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวในอดีต

ถนนอาเนาะรู สามแยกโรงน้ำแข็ง

จากวัดหัวตลาดข้าพเจ้าจะพาท่านเดินข้ามถนนนาเกลือไปยังอีกฟากหนึ่งของถนนอาเนาะรู   หัวมุมถนนอาเนาะรูฝั่งทิศใต้เป็นบ้านของจ่าหวาด ที่บ้านนี้เลี้ยงไก่ชนหลายตัว ถัดไปเป็นฝั่งตรงกันข้ามกับสมาคม ถ้าจำไม่ผิดในตอนนั้นเป็นโกดังของบริษัทพิธานพาณิชย์ แล้วก็เป็นลานหน้าศาลเจ้าแม่ฯ ติดกับลานเป็นบ้านไม้ 2 ชั้นของนายสุนนท์ ทับทิมทอง หรือลุงหล่ำเฮง พนักงานเทศบาล เวลามีพิธีลุยไฟข้าพเจ้าจะไปดูบนชั้นบนบ้านหลังนี้ตอนนั้นไม่มีอัฒจันทร์บังมองเห็นชัดมาก ถัดไปเป็นบ้านน้าเซี๊ยะ น้าฮวย น้าเซี๊ยะขับรถโรงน้ำแข็งวัฒนานิกร น้าฮวยจะขายข้าวยำ และขนมหวาน ข้าพเจ้าจำได้ว่าชอบไปซื้อกล้วยเชื่อมกินตอนหัวค่ำ ถัดไปเป็นบ้านนายอนันต์ วรุตตมะ หรือลุงโอ๋น บ้านลุงโอ๋นเป็น ฟาร์มเลี้ยงไก่ ลุงโอ๋นใช้รถลิตเติ้ลฮอนด้าส่งไข่ไก่ให้ร้านค้า รถลิต-เติ้ลฮอนด้านี้เป็นรถที่ทันสมัยมากในตอนนั้นเพราะเป็นรถลูกผสมระหว่างมอเตอร์ไซค์กับจักรยาน  มีสวิทช์ปรับเลือกได้ว่าจะใช้เป็นจักรยานหรือจะใช้เป็นมอเตอร์ไซค์   ติดกับบ้านลุงโอ๋นเป็นบ้านไม้ 2 ชั้น ผู้ที่อาศัยอยู่คือนายเต็งไฮ้ แซ่อุ่ย  นายเต็งไฮ้คั่วกาแฟขาย บ้านนี้เดิมเป็นบ้านของขุนด่านจ๊าบ แซ่เล่  ต้นตระกูลเลขะกุล ซึ่งเป็นตระกูลใหญ่อีกตระกูลหนึ่ง ย่าของภรรยาข้าพเจ้า คือย่ายี่เกียว พงษ์พานิช ก็มาจากสกุลเดิมเลขะกุลเช่นกัน ในบ้านจะมีป้ายบูชาและภาพถ่ายบรรพบุรุษของ เลขะกุล หลายคน ถัดไปเป็นบ้านทรงจีนจำไม่ได้ว่าใครอาศัยอยู่ ถัดไปเป็นร้านขายน้ำชาของน้าจั๊ว และเจ๊ลั้งมีลักษณะเป็นแผงลอย ถัดไปเป็นห้องแถวไม้ชั้นเดียวจำได้ว่าห้องมุมตัดกับถนนปะนาเระเป็น บ้านลุงพันธ์ พนักงานบริษัทธำรงวัฒนา
              

เดินข้ามถนนปะนาเระไปเป็นบ้านลุงจิ้นที่เล่าให้ฟังแล้ว หลังบ้านลุงจิ้นมีบ้านไม้ 2 ชั้น เจ้าของเป็นช่างเย็บเสื้อชื่อจี๊ตัน เป็นลูกสาวนายซุ่ยเฉี้ยง นาคพันธุ์ เป็นญาติกับคุณปู่สายเดียวกับป้าเอง   จี๊ตันขาพิการเดินกระเผลก ถัดจากบ้านลุงจิ้นเป็นบ้านห้อง แถว 2 ชั้นยกพื้นสูง 3 หลัง หลังแรกเป็นบ้านน้าผอม น้าผอมเป็นลูกจีนที่เข้านอกออกในบ้านคุณปู่ได้ตลอดเวลา น้าผอมขายน้ำแข็งใสรวมมิตร เด็กปัตตานีรู้จักน้าผอมกันทุกคน ถัดไปเป็นบ้านอาเจริญ สุวรรณมงคล กับน้าศรีสุมาลย์ น้าสุเป็นลูกสาวยายวไล หรือยายมล วัฒนายากรลูกพี่ลูกน้องกับคุณปู่ ถัดไปเป็นร้านขายของใช้ เบ็ดเตล็ดของคนจีน เจ้าของร้านมีลูกสาวชื่อยุพิน หนุ่มๆปัตตานีรู้จักกันทั่วเพราะ ยุพินเป็นนางงามปัตตานี ถัดจากห้องแถวนี้ไปเป็น บ้านไม้ 2 ชั้นของป้าซ่วนหลุย โกวิทยา เดิมบ้านนี้คุณหลวงสำเร็จกิจกรจางวาง(ปุ่ย แซ่ตัน)ต้นตระกูล คณานุรักษ์ซื้อให้ทวดเกี๊ยด ภรรยาคนที่ 4 และหลวงวิชิตศุลกากร(ตันจูอิ้น) บุตรชายคนสุดท้องของท่านเมื่อ ..2417 ป้าหลุยเป็นหลานตาของหลวงวิชิตฯ ป้าหลุยมีอาชีพทำขนมขาย ขนมที่ป้าหลุยขายเป็นขนมที่หากินยากในปัจจุบันนี้เช่นผีตายบาก ขนมหน้าหมู ขนมเกาะหลี ถัดจากบ้านป้าหลุย เป็นอาคารไม้ชั้นเดียวมีป้ายชื่อติดไว้ว่าธรรมศาลา 2469 เป็นบ้านเดิมของเถ้าแก่ต้วนเม่ง แซ่เล่า เถ้าแก่ต้วนเม่งเป็นบิดาของนายจ่ายฮก น้องเขยคุณปู่ทวดพระจีนฯ ภายในโรงธรรมมีบัวของนายจ่ายฮก ที่ฝาผนังมีภาพวาดนิทาน ชาดก และแผ่นหินอ่อนจารึกเรื่องราวของวงศ์ตระกูลเถ้าแก่ต้วนเม่ง ถัดไปเป็นบ้านไม่มีคนอยู่เดิมเป็นบ้านของนางโป้เอี้ยน แซ่เล่า ลูกสาวนายจ่ายฮกและนางจูกี่ ยายโป้เอี้ยนเป็นแม่ของนางโสภิต  วัฒนานิกร โรงน้ำแข็งวัฒนานิกร ติดกันเป็นที่ว่างมีต้นพุทราป่า ที่พวกเด็กๆชอบไปเก็บกินกัน นายจ่ายฮกนับเป็นโครงกระดูกในตู้ของตระกูลคณานุรักษ์ เพราะเป็นผู้ที่ทำให้เกิดเรื่องราวทะเลาะถึงขั้นตัดญาติขาดมิตรกัน เนื่องจากภายหลังนายจ่ายฮกไปได้นางลินเลี่ยง ธิดาหลวงสุนทรสิทธิโลหะ (ตันจูเม้ง) เป็นภรรยา นางจูกี่ภรรยาคนแรกของนายจ่ายฮกเป็นน้องสาวของหลวงสุนทรฯ ดังนั้นนางลินเลี่ยงและนางโป้เอี้ยนจึงมีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องกัน ภายหลังมีปัญหาทะเลาะกันระหว่างลูกเลี้ยงแม่เลี้ยง เป็นสาเหตุให้ตัดญาติกัน  สุดท้ายเป็นบ้านหัวมุมเป็นตึกจีน 2 ชั้น เป็นบ้านเดิมของแม่นายลาบู เจ้าของดั้งเดิมของเหมืองลาบู ในตอนนั้นผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้ชื่อ ลุงวาด หรือที่พวกเราเรียกว่า ลุงสวน เพราะแกเป็นคนสวนของอาสมพร วัฒนายากร แกดุมากจะคอยไล่ เด็กที่เข้าไปเล่นในสวนเสมอโดยไม่เคยสนใจว่าเป็นลูกหลานใคร   จากบ้านลุงวาดเดินข้ามถนนปัตตานีภิรมย์ ไปฝั่งตรงข้ามบ้านหัวมุมเป็นห้องแถวไม้ของอาศรีสุขสวัสดิ์ วัฒนายากร ลูกชายยายมล ติดกันทางซ้ายเป็นบ้านคุณตาดิเรก และคุณยายดวงเดือน คณานุรักษ์ เป็นบ้านทรงจีนชั้นครึ่ง ข้าพเจ้าชอบไปบ้านนี้มากเพราะคุณยายดวงเดือนซึ่งเป็นน้องคุณย่าเสริมสุขใจดีมากจะมีขนมนมเนยไว้เลี้ยงลูกหลานตลอดเวลา บ้านนี้เดิมเป็นบ้านของคุณทวดขุนพิทักษ์รายา(ตันบั่นซิ่ว) ลูกชายคนสุดท้องของ คุณปู่ทวดพระจีนฯ  คุณตาดิเรกเป็นลูกชายคุณทวดขุนพิทักษ์ฯ ถัดไปเป็นตึก 2 ชั้นอันทันสมัยของลุงมานพ และอามวล ลุงนพเป็นพี่ชายคนโตของพ่อ เดิมบ้านนี้เป็นบ้านคุณทวดขุนจำเริญภักดี(ตันบั่นฮก) พ่อของคุณปู่ ท่านเป็นลูกชายคนโตคุณปู่ทวดพระจีนฯ   ต่อมาตกทอดมาถึงลุงวิทยา หรือลุงเต็ก ลูกชายคนสุดท้องของคุณทวดขุนจำเริญฯ ลุงนพได้ซื้อต่อและรื้อบ้านเก่าที่เป็นทรงจีนสร้างใหม่เป็นตึกทันสมัย  ฝั่งตรงกันข้ามเยื้องกับบ้านลุงนพ เป็นบ้านเดิมของนายบุญเสี้ยน วัฒนานิกร ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทกับคุณปู่ทวดพระจีนฯ และนางยี่จ้อง แซ่ลั้วพี่สาวของนายบุญเสี้ยนก็เป็นภรรยาของนายจูเซียน น้องชายคุณพระจีนฯ  ในตอนนั้นผู้ที่อาศัยอยู่ที่บ้านหลังนี้คือยายเซ่งห้วย เป็นภรรยาของหลวงสกลการธานี(ซุ้ยจ้าย วัฒนานิกร) บุตรชายของนายบุญเสี้ยน คุณยายเซ่งห้วย เป็นมารดาของคุณมาโนช วัฒนานิกร หรือเถ้าแก่ซิ่ว ข้าพเจ้าจำท่านได้ดีเพราะท่านมักจะออกมานั่ง หน้าบ้านทุกวัน เมื่อท่านถึงแก่กรรมข้าพเจ้ายังไปช่วยงานศพท่าน 

ธรรมศาลา

บ้านหลวงวิชิตศุกลกากร(ตันจูอิ้น)
บ้านหลวงสุนทรสิทธิโลหะ(ตันจูเบ้ง)

บ้านทวดโป้เอี้ยน
อีกด้านของบ้านอาศรีสุข เป็นปลายถนนอาเนาะรูลงไปท่าน้ำแม่น้ำปัตตานี  จะมีชาวบ้านพายเรือรับจ้างมาคอยรับคนข้ามฟากไปฝั่งตรงข้ามคือโรงเรียนบ้านสะบารัง  ท่าน้ำนี้ในอดีตรัชกาลที่ 5 เคยเสด็จขึ้นจากเรือพระที่นั่งเพื่อประพาสตลาดจีน  อีกฟากของปลายถนนนี้เป็นโรงน้ำแข็ง วัฒนานิกร ของคุณมาโนช วัฒนานิกร หรือเถ้าแก่ซิ่ว ที่นี่เป็นเขตหวงห้ามของญาติพี่น้องข้าพเจ้า บางคนเพราะผู้ใหญ่โกรธกันทั้งๆที่ภรรยาเถ้าแก่ซิ่ว  คือนางโสภิต เป็นญาติสายนางจูกี่ ดังที่ข้าพเจ้าได้เล่าไว้ก่อนหน้านี้แล้ว แต่ข้าพเจ้าสามารถเข้าออกโรงน้ำแข็งได้เพราะหลานชายคนโตของเถ้าแก่ซิ่ว คือโจ้ หรือพีระพล เสรีกุล เป็นเพื่อนสนิทของข้าพเจ้า เรียนด้วยกันกินด้วยกัน อยู่ด้วยกันจนจบจากมหาวิทยาลัย จนข้าพเจ้าพลอยเรียกเถ้าแก่ซิ่ว และ คุณนายโสภิต ว่าคุณตา คุณยายไปด้วย ในตอนนั้นโรงน้ำแข็งจะเดินเครื่องตลอดเวลาถ้าวันใดเครื่องเสียแถวละแวกนั้นจะเงียบผิดปกติ 

จากโรงน้ำแข็งเดินข้ามถนนปัตตานีภิรมย์ ไปยังถนนอาเนาะรู ฝั่งทิศเหนืออีกครั้ง ตรงหัวมุมจะเป็นบ้านตึกทรงจีนดัดแปลง 2 ชั้นของคุณยายซุ่ยสิ้ม ปริชญากร พี่สาวคนโตของ คุณตาดิเรก ติดกันเป็นตึกจีนดัดแปลง 2 ชั้นเช่นกันของคุณยายลิ่วซิ้ม วงศ์วารี บ้านหลังนี้เป็นที่ประดิษฐานของพระกุนไท้กุนซึ่งเป็นพระประจำตัวของคุณปู่ทวดพระจีนฯ ชั้นบนของบ้านจะมีนกนางแอ่นมาทำรังเต็มไปหมด เวลาตอนเย็นจะมีนกบินว่อนอยู่หน้าบ้านก่อนเข้ารัง คุณยายลิ่วซิ้ม เป็นหลานยายของนางเม่งจู โกวิทยาพี่สาวคนโตของคุณปู่ทวดพระจีนฯ เดิม บ้าน 2 หลังนี้เป็นบ้านของนางเม่งจู เล่ากันว่าในสมัยทวดเม่งจูยังมีชีวิตหลังบ้านจะเป็นสวนดอกไม้นานาพันธุ์    บ้านคุณยายลิ่วซิ้ม มีชื่อเรียกว่าบ้านรังนก หรือบ้านครูราญ เพราะน้าสำราญ วงศ์วารีลูกชายคุณยายเคยเป็นครูมาก่อน ถัดจากบ้านรังนกเป็นบ้านจีนชั้นเดียวผู้ที่อาศัยอยู่คือน้าเหลี่ยน พนักงานบริษัทพิธานพาณิชย์ ติดกันเป็นบ้านจีนชั้นเดียวเช่นกันของนายนิคม ดาราพันธุ์ หรือแป๊ะแฉ้ แป๊ะแฉ้เป็นญาติทางย่าทวดเบ้งซ่วนภรรยาคุณปู่ทวดพระจีนฯเช่นกัน ปกติแป๊ะแฉ้จะถีบจักรยานตระเวนขายล๊อตเตอรี่  เวลาใครมีงานพิธีสงฆ์แป๊ะแฉ้ก็จะไปช่วยนำอาราธนาพระ นอกจากนี้ยังมีวิชารักษาต้อเนื้อโดยวิธีตัดต้อซึ่งเป็นวิชาไสยศาสตร์ ลูกสาวแป๊ะแฉ้คนหนึ่งชื่อจี๊สั้น พิการมีแขนลีบสั้น 1 ข้าง แต่มีความสามารถในการปักผ้ามาก คนส่วนใหญ่นิยมจ้างให้ปักเสื้อนักเรียน ถัดจากบ้านแป๊ะแฉ้เป็นบ้านไม้ 2 ชั้นของลุงหยัดกับป้าเหลี่ยน ลุงหยัดเป็นช่างซ่อมรถยนตร์ที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง ถัดไปเป็นห้องแถวไม้ของ น้าก๊วน น้ากาว มุ่งแสง  ทั้ง 2 คนเป็นโชเฟอร์ขับรถรับจ้าง    ถัดไปเป็นบ้านอาสมพร และ อาสุวรรณา วัฒนายากร เป็นบ้านที่มีบริเวณกว้างมาก ด้านข้างและด้านหลังเป็นสวน ในสวนหลังบ้านมีตึกจีน 2 ชั้น 1 หลัง เป็นบ้านของหลวงสุนทรสิทธิโลหะ(ตันจูเม้ง) พี่ชายคุณปู่ทวดพระจีนฯ เรียกกันว่าบ้านบน ภายหลังเป็นบ้านของคุณทวดเป้าเลี่ยง ลูกสาวหลวงสุนทรฯ ซึ่งเป็นแม่ของคุณย่า พ่อของข้าพเจ้าก็เติบโตที่บ้านนี้   ในตอนนั้นอาพรให้ป้าเฮื้องซึ่งเป็นคนเก่าแก่อาศัยอยู่ บ้านหลังนี้มีสิ่งที่ข้าพเจ้าแปลกใจมากเพราะบนหลังคามีตุ๊กตาปูนปั้นเป็นรูปคนขี่สิงห์  ซึ่งว่ากันว่าเอาไว้สำหรับแก้อาถรรพ์   ในสวนจะมีต้นละมุด หรือที่เราเรียกว่าลูกสวาที่มีรสชาดหวานมาก นอกจากนี้ยังมีผลไม้ประหลาดชนิดหนึ่งผลมีลักษณะคล้ายอวัยวะเพศของสุนัขตัวเมีย เรียกว่า ลูกหีหมา ลูกจะออกเต็มโคนต้น เวลาสุกจะมีรสหวานอมเปรี้ยว กลิ่นหอม ลูกหีหมา มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า ลูกอัมพวา  ลูกชายคนหนึ่งของอาพรและอาวรรณคือพี่ป้อง เป็นเพื่อนเล่นกับข้าพเจ้า ตั้งแต่เล็กจนโต จนปัจจุบันนก็ยังเป็นคู่หูกัน หลายครั้งหลายคราที่เราสองคนประกอบวีรกรรรมที่ไม่เป็นที่สบอารมณ์ของผู้ใหญ่ทั้งๆที่เราคิดว่าเราทำเพื่อรักษาศักดิ์ศรีของวงศ์ตระกูล

บ้านยายซุ่ยสิ้มและบ้านรังนก ซึ่งเดิมเป็นบ้านนางเบ้งจู
บ้านน้าเหลี่ยนและบ้านแป๊ะแฉ้
บ้านลุงหยัด
บ้านอาสมพร
ต่อไปเป็นบ้านหลังสุดท้ายอยู่ระหว่างสวนอาพร กับบ้านคุณปู่ เป็นบ้านทรงจีนชั้นเดียว เรียกว่า บ้านกงสี เป็นบ้านเดิมของหลวงสำเร็จกิจกรจางวาง(ปุ่ย แซ่ตัน) ต้นตระกูลคณานุรักษ์ เมื่อเข้าบ้านห้องโถงกลางจะมี แท่นบูชาบรรพบุรุษ โดยมีป้ายชื่อบรรพบุรุษเก็บไว้ในตู้ไม้แกะสลักแบบจีนที่สวยงามมาก เรียกว่า ถ้ำ    ห้องด้านซ้ายเป็นที่พักของทวดกุ้ยกี ท่านเป็นลูกสาวของคุณปู่ทวดพระจีนฯ   ข้าพเจ้าเรียกท่านว่าย่ากีตามพ่อ ท่านบวชเป็นแม่ชี  ท่านเลี้ยงชะนีไว้ 1 ตัว ชื่อ แง๊ว ดุมาก ย่ากีรักข้าพเจ้ามากถ้าข้าพเจ้าไปหาท่านๆจะเอากล้วยน้ำว้าที่ซื้อไว้เลี้ยงไอ้แง๊วให้ข้าพเจ้ากินเสมอ ย่ากีมีชีวประวัติที่น่าสนใจมาก ท่านเคยเป็นภรรยาพระยาประวัติสุจริตวงศ์(คอยู่ตี่ ณ ระนอง) เจ้าเมืองชุมพร ท่านหย่ากับสามีกลับมาอยู่ที่ปัตตานีเพราะสุนัขที่ท่านเลี้ยงไปกัดสามี แล้วสามีท่านยิงสุนัขตาย ท่านจึงโกรธมาก ย่ากีมีลูกชาย 1 คนชื่อ ตอม ไปเรียนวิชากฏหมายจากอังกฤษกลับมาได้ไม่นานก็ตายลือกันว่าถูกวางยาพิษ  ห้องด้านขวาของบ้านกงสีเป็นที่พักของครอบครัวลุงจำรูญ พี่ชายของพ่อเช่นกัน หลังบ้านกงสีเป็นสวน ในสวนมีจอมปลวกขนาดใหญ่ 
              
เป็นอันว่าข้าพเจ้าได้นำท่านย้อนยุคไปเยือนหัวตลาดเมื่อ 40 ปีที่แล้วเรียบร้อยแล้ว ท่านคง จะมองเห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปมากเมื่อเทียบกับสภาพปัจจุบัน บ้านเรือนหลายหลังถูกรื้อหรือ ซ่อมแซม ดัดแปลงจนกลายสภาพไปแล้ว บุคคลหลายท่านก็ล้มหายตายจากไปแล้ว บางคนก็ย้าย ถิ่นฐานออกไปจากหัวตลาด  แม้แต่ข้าพเจ้าเองปัจจุบันก็ไม่ได้อยู่ที่หัวตลาดแล้ว ……….หัวตลาดจึงเป็นเพียงความทรงจำของข้าพเจ้าเท่านั้น………
                                                                                                            ..ปานเทพ คณานุรักษ์
                                                                            
เรียบเรียงใหม่ วันที่ 10 สิงหาคม พ.. 2552

บ้านกงสี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น