มีคนบอกว่าเล่าเรื่องตระกูลได้สนุกดี
ประกอบกับรู้ตัวดีว่าฮาร์ดดิสก์ระหว่างหู ๒ ข้างกำลังใกล้หมดอายุ
ข้อมูลบางอย่างเรียกแล้วเรียกอีก search แล้ว search อีก ดันหาไม่เจอ
ไม่รู้มันไปหมกอยู่ใน cluster ไหนของ cell สมอง
พอนึกอะไรได้ต้องรีบเขียน ก่อนมันจะหายไปแบบกู้ไม่ได้ เจ๊งแล้วเจ๊งเลย
วันนี้จะขอเล่าถึงเรื่องของบ้านกงสี และบ้านตึกขาว
เคยเขียนไว้เมื่อไม่นานมานี้ แต่พาดพิงถึงบางคนที่อาจจะเกิดความขุ่นข้องหมองใจ
วันนี้เลยเอากลับมานั่งปรับปรุงเป็น revised edition
เพื่อสนองนโยบายสมานฉันท์เพื่อวงศ์ตระกูล
แต่ก็ยังมีบางส่วนที่มิอาจตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูล
ความจริงย่อมเป็นความจริง ก็ต้องขออภัยผู้ที่ถูกพาดพิงทุกท่าน
บ้านกงสี |
ขอพูดเป็นเรื่องๆไป เรื่องแรกก็บ้านเลขที่ ๒๗ ถนนอาเนาะรู หรือที่เรารู้จักกันในนาม “บ้านกงสี”
บ้านหลังนี้เป็นบ้านของหลวงสำเร็จกิจกรจางวาง (ปุ่ย แซ่ตัน) ต้นตระกูลของพวกเรา
มีข้อมูลเล่าต่อกันมาว่าเดิมทีบริเวณนี้เคยเป็นสุสานร้าง หลวงสำเร็จกิจกรจางวางได้ทำพิธีรื้อสุสานออก
แล้วสร้างเป็นบ้านพัก
หลังจากที่ท่านถึงแก่กรรมเมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๑ ไม่มีหลักฐานว่าใครเป็นผู้ที่พักอาศัยในบ้านหลังนี้
เพราะก่อนหน้านั้นบรรดาลูกๆของท่านต่างก็มีบ้านเป็นของตนเองอยู่ในละแวกใกล้เคียงทั้งหมด
ต่อมาผู้ที่พักอาศัยในบ้านหลังนี้เป็นชั้นหลาน คือทวดขุนพจน์สารบาญ (บั่นลก)
และทวดกุ้ยกี คณานุรักษ์ บุตรและธิดาของพระจีนคณานุรักษ์ (จูล้าย)
ลักษณะของบ้านเป็นบ้านทรงจีนชั้นเดียว แบ่งเป็น ๓ ห้อง
คือโถงกลาง และห้องด้านซ้ายขวาด้านละห้อง
ในสมัยนั้นที่โถงกลางบ้านกงสีเป็นแท่นบูชาประดิษฐานองค์พระกุนเต้กุน หรือกวนอู
และองค์พระต่างๆของพระจีนคณานุรักษ์ ซึ่งขุนพจน์สารบาญนำกลับมาจากกงสีของพระจีนคณานุรักษ์ที่เหมืองถ้ำทะลุ
และมีถ้ำเก็บป้ายบูชาชื่อหลวงสำเร็จกิจกรจางวางและนางซ่วนเหนี่ยว แซ่โก๊ย
เมื่อหันหน้าเขาตัวบ้านห้องด้านขวาเป็นห้องพักของทวดขุนพจน์สารบาญ
ส่วนห้องด้านซ้ายเป็นห้องพักของทวดกุ้ยกี ซึ่งบวชเป็นชี
หลังจากที่ทวดขุนพจน์สารบาญถึงแก่กรรมได้ตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่โถงกลางบ้านกงสี
จึงมีการย้ายแท่นบูชาเทพเจ้าต่างๆไปไว้ที่บ้านเลขที่ ๓ ถนนอาเนาะรู ซึ่งเป็นบ้านเดิมของนางเม่งจู โกวิทยา
และป็นมรดกตกทอดถึงป้าสุนันทา(ซิ่วกี่) คณานุรักษ์
ช่างที่ทำการย้ายคือลุงพินิจ(ตงเอี่ยง) โกวิทยา หลานชายหลวงวิชิตศุลกากร(จูอิ้น)
ส่วนบ้านกงสีเมื่อสิ้นทวดขุนพจน์สารบาญ ยังคงมีทวดกุ้ยกี พักอาศัยอยู่
และบ้านกงสีเป็นมรดกตกทอดจากทวดขุนพจน์สารบาญไปยังปู่ขุนอนุพันธุ์ภักดี(ฮกกุ่ย) บุตรชาย
เนื่องจากมีห้องว่างปู่อนันต์ จึงได้ขอให้ลุงจำรูญ บุตรชายคนที่ ๓ และครอบครัวเข้าไปอาศัยในบ้านกงสี
จนกระทั่งเมื่อปู่ขุนอนุพันธุ์ภักดีถึงแก่กรรมลง ผู้ที่รับมรดกสืบทอดต่อมาคือน้าวิชิต คณานุรักษ์ บุตรชาย
บ้านกงสียังคงเป็นที่พักอาศัยของทวดกุ้ยกี และครอบครัวลุงจำรูญ
จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๕๑๒ ทวดกุ้ยกี ถึงแก่กรรม จึงเหลือแต่ครอบครัวของลุงจำรูญ พักอาศัยในบ้านกงสี
ต่อมาน้าวิชิต ได้ประกาศขายบ้านกงสี มีผู้ที่ต้องการซื้อคือนายวันชัย พนักงานธนาคารนครหลวง สาขาปัตตานี
บรรดาเครือญาติจึงหารือกัน เพื่อไม่ให้บ้านกงสีตกไปอยู่ในมือบุคคลภายนอกตระกูล
มีการขอร้องให้ลุงมานพ คณานุรักษ์ ซื้อบ้านกงสี แต่ด้วยเหตุผลบางประการลุงมานพตัดสินใจไม่ซื้อบ้านกงสี
มีญาติอีกคนที่ต้องการซื้อคือ พี่ศรีวิไล ปริชญากร
แต่ในที่สุดผู้ที่ซื้อบ้านกงสีจากน้าวิชิต คืออาสมพร วัฒนายากร ซึ่งเครือญาติทุกคนเห็นดีเห็นงาม
เพราะมีแม่และภรรยานามสกุลคณานุรักษ์
เมื่ออาสมพรซื้อบ้านกงสีแล้วได้ขอให้ครอบครัวลุงจำรูญย้ายออกจากบ้านกงสี
และต่อมาได้ให้นายโต้ย พนักงานดับเพลิงมาอาศัยอยู่เพื่อเฝ้าบ้าน จนนายโต้ยถึงแก่กรรม
ผู้ที่เข้ามาอาศัยต่อคือนางฉาย ขจรวงศ์
ต่อมาอาสมพรได้ทำการซ่อมแซมบ้านกงสี แล้วปิดไว้ไม่มีผู้พักอาศัย
เป็นที่ประดิษฐานเจ้าแม่กวนอิม พระกุนเต้กุน และพระใช้เซ่งเอี่ย และถ้ำเก็บป้ายบูชาบรรพบุรุษ
พระต่างๆและป้ายบูชาบรรพบุรุษ |
ต่อมาหลังจากที่คนรุ่นผมได้รวมตัวกันจัดตั้งสมาคมทายาทหลวงสำเร็จกิจกรจางวาง ปัตตานี
เราจึงขออนุญาตได้ทำการตบแต่งบ้านกงสีเป็นที่รวบรวมภาพถ่ายของบรรพบุรุษ
เป็นที่พบปะของญาติพี่น้อง และเพื่อนฝูง ทุกวันหยุด
และผมกับพี่ป้อง พันธุ์ฤทธิ์ วัฒนายากรได้ขออนุญาตอัญเชิญพระทั้ง ๓ องค์เข้าร่วมขบวนแห่พระของศาลเจ้าเล่งจูเกียงทุกปี
เป็นอันจบเรื่องราวของบ้านกงสี
พระกุนเต้กุนหรือพระกวนอู และพระไช้เซ่งเอี่ยหรือพระโชคลาภ ประทับเกี้ยวรอออกแห่ |
เจ้าแม่กวนอิมบ้านกงสีประทับเกี้ยว |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น