วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2559

เรื่องที่ ๑๒ เรื่องโง่ๆของผม

ขอแทรกเรื่องราวตระกูลด้วยเรื่องส่วนตัวของผม ที่ผมเขียนไว้เมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๕๗

ดูข่าวนักชกสาวชาวอินตะระเดียเอาเหรียญทองแดงไปคล้องคอนักชกโสมขาวที่เอาชนะตนเองไปแบบค้านสายตาคนทั่วโลก
ทำให้ผมคิดถึงเรื่องราวของผมเมื่อครั้งอดีต ที่หลายคนบอกว่าผมโง่

หลังจากที่ผมทำงานที่ รพ.บ้านโป่ง ราชบุรี นาน ๘ ปีผมก็ลาออกไปทำงานที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)ปกติเป็น ธรรมเนียมของ รพ.บ้านโป่ง เมื่อมีหมอคนไหนย้ายหรือลาออก จะมีการซื้อทองให้ ๑ บาท โดยใช้เงินที่องค์กรแพทย์เก็บจากหมอทุกคนเข้าเป็นกองกลางเพื่อทำกิจกรรม ต่างๆ
แต่ผมเป็นแกะดำขององค์กรแพทย์ รพ.บ้านโป่ง การที่ตัดสินใจลาออกจากราชการเหตุผลสำคัญก็มาจากการดำเนินชีวิตสวนทางกับสมาชิกองค์กรแพทย์
ผมเลยประกาศชัดเจนว่าผมลาออกจาก รพ.บ้านโป่ง องค์กรแพทย์ไม่ต้องเลี้ยง ไม่ต้องซื้อของให้ เพราะถึงจัดเลี้ยงส่งผมก็ไม่ไป และไม่รับของ
มีคนหาว่าผมโง่ ไม่รู้จักใช้สิทธิ เพราะเงินส่วนหนึ่งขององค์กรแพทย์ก็เป็นเงินที่เก็บไปจากค่าจ้างแรงงานของผม ผมก็ตอบไปว่าผมได้ของขวัญชิ้นใหญ่แล้วคือได้ออกจาก รพ.บ้านโป่ง ไปมีงานใหม่ทำที่ไม่ด้อยไปกว่าเดิม

ผมไม่รู้เหมือนกันว่าองค์กรแพทย์เขาจัดเลี้ยงส่งผม โดยไม่มีผมในงานหรือเปล่า ฮิๆๆ

แต่ถึงผมจะประกาศไปแบบนั้น เอาเข้าจริงผมก็ต้องตระเวนไปงานเลี้ยงส่งอยู่ดี เพราะตอนที่ผมลาออกนั้นผมลาออกพร้อมกับ นพ.ฉัตร กิติบวร สาธารณสุขนิเทศเขต ๔
นพ.นรา นาควัฒนานุกูล หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดเลี้ยงส่งพี่ฉัตรในนามของเขตตรวจราชการที่ ๔ เลยพ่วงผมไปด้วยเพราะเป็นน้องเล็กของผู้บริหารทั้งนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ของ ๘ จังหวัดภาคกลางตอนล่างและภาคตะวันตกในขณะนั้น
นอกจากนั้น นพ.พิชาติ ดลเฉลิมยุทธนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านโป่ง ที่เป็นคู่หูเล่นกอล์ฟกับผมทุกสัปดาห์ (และครั้งหนึ่งผิดใจกันถึงขั้นไม่พูดกัน แต่ก็ไปเดินเล่นด้วยกัน ๒ คนโดยไม่พูดกันแม้แต่คำเดียว) ยังได้กรุณาจัดงานเลี้ยงส่ง โดยเชิญแต่หมอและพยาบาลที่ซี้ๆกันในกลุ่มเฮฮาปาร์ตี้ไม่กี่คนไปกินข้าว ร้องรำทำเพลง

ผมมานั่งคิดย้อนหลังไป ทำไมวันนั้นผมไม่รับทองขององค์กรแพทย์แล้วเอาไปขายเอาเงินไปทำประโยชน์อย่างอื่น กลับเพิกเฉยต่อทอง ๑ บาท ผมโง่จริงๆหรือเปล่า ใครช่วยผมตอบที เผื่อมันมีประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ผมจะได้ตัดสินใจถูกว่าควรทำอย่างไร

เรื่องที่ ๑๑ สัญญาภาษาอังกฤษของบรรพบุรุษ

มีสัญญาฉบับหนึ่งน่าสนใจมาก
เจออยู่ในสมุดบันทึกส่วนตัวของคุณพระจีนคณานุรักษ์
สมุดบันทึกเล่มนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของโป่หนู เป็กแฉ้(คณานุรักษ์) กุลโชติ
ผมได้ถ่ายสำเนาเก็บไว้ เวลาว่างก็เอามาเปิดอ่าน
ส่วนใหญ่เป็นตำราโหราศาสตร์, คาถาไสยศาสตร์ และตำรายาจีน
มีอยู่หน้าหนึ่งเป็นลายมือเขียนภาษาอังกฤษ
ผมขอคัดลอกมาให้อ่าน
แต่ด้วยความด้อยปัญญาในภาษาอังกฤษ
ชีวิตนี้ไม่เคยไปเรียนเมืองนอกเมืองนา
เลยอ่านแล้วไม่ค่อยจะรู้เรื่อง
ใครอ่านแล้วรู้เรื่อง ช่วยแปลให้ด้วยครับเจ้านายยยยยยย!!!

.........................................................................

Agreement entered into this day the 26th of December 1876. Between the Galena Mining Company Limited, Jalor and Raman on the one part and Tan Choo Beng on the other part.
That Tan Choo Beng hereby agrees to work the various mines or workings of the company and any other places of which he may be aware in Gua Tumbus and sell to the above named Company whatever Galena Ores may be obtained therefrom.
For which the Company agrees to pay the said Tan Choo Beng at the rate of $2.25 per picul for ores which will when smelted return from 55 % to 60 % and at the rate of $1.50 per picul for ores which when smelted will return 40 % ores of different per Centages to the above mentioned will be paid for according to value.
The Company will in the first instance supply Bores and Hammers which Tan Choo Beng must keep up and be responsible for also ore bag for the conveyance of the ore.
In cases of Sinking Shafts or Draining Levels such working must be properly carried on by being made safe and secure to the satisfaction of the Company’s Manager at the time being or any substitude he may appoint.
All ores to be conveyed from Gua Tambus to alongside the Companys road at Tan Choo Beng’s cost and risk after which the Company will take charge of it.
All ores to be weighed at the Company smelting shed and stand 106 Catties same as Patani Picul.
Powder will be supplied by the Company at the rate of $16 per keg, Fuse at 20 Cents per Coil. Dynamite $5.00 per packet and Detonators at $2.00 per tin.
Ore to be paid by cheque payable in Singapore.
This agreement to last for 20 years.

...............................................................................

คำแปล แบบชาวบ้าน

สัญญาฉบับนี้ทำขึ้นเมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๑๙ 
ระหว่างบริษัทกาลีน่าไมนิ่งจำกัด ยะลาและรามัน ฝ่ายหนึ่ง และ ตันจูเบ้ง อีกฝ่ายหนึ่ง
ซึ่ง ตันจูเบ้ง ในที่นี้ตกลงที่จะทำการขายแร่ตะกั่วทั้งหลายที่ขุดได้จากเหมืองต่างๆ 
ตลอดจนที่ได้จากบริษัทต่างๆ หรือในสถานที่ต่างๆในตำบลถ้ำทะลุซึ่งอยู่ในความดูแลของตันจูเบ้งทั้งหมด
ให้กับบริษัทที่เอ่ยนามข้างต้น
ทางบริษัทจะจ่ายเงินให้ตันจูเบ้งในอัตรา ๒.๒๕ เหรียญต่อหาบ สำหรับแร่ที่ถลุงได้เนื้อแร่ ๕๕ – ๖๐% 
และในอัตรา ๑.๕๐ เหรียญต่อหาบ สำหรับแร่ที่ถลุงได้เนื้อแร่ ๔๐% 
สำหรับแร่ที่ถลุงได้ในอัตราเปอร์เซนต์ที่ต่างจากข้างบนจะจ่ายให้ตามมูลค่า
ในเบื้องต้นบริษัทจะสนับสนุนกระบอกสูบและสากตำแร่ให้ โดยทางตันจูเบ้งจะต้องดูแลรักษา 
และรับผิดชอบกระสอบบรรจุแร่ และการขนส่งแร่ 
ทั้งนี้ระดับของเพลาขุดเจาะ และการขนถ่ายแร่ต้องกระทำด้วยความปลอดภัยมั่นคง
ตามความพึงพอใจของผู้จัดการบริษัทในเวลานั้นหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย
ตันจูเบ้งจะต้องรับผิดชอบค่าขนส่งแร่ทั้งหมดที่ขนจากตำบลถ้ำทะลุไปยังบริษัท ตลอดจนความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น
แร่ทั้งหมดจะถูกนำไปชั่งน้ำหนักที่โรงถลุงแร่ของบริษัท 
โดยกำหนดให้ ๑๐๖ ชั่งจีน เท่ากับ ๑ หาบของปัตตานี
บริษัทจะจำหน่ายดินปืนให้ในราคา ๑๖ เหรียญต่อถัง ชนวนระเบิดราคา ๒๐ เซนต์ต่อม้วน 
ไดนาไมท์ราคา ๕ เหรียญต่อหีบ และเชื้อประทุราคา ๒ เหรียญต่อกระป๋อง
เงินค่าแร่จะจ่ายเป็นเช็คสั่งจ่ายในสิงคโปร์
สัญญาฉบับนี้มีผลบังคับใช้เป็นเวลา ๒๐ ปี

...............................................................................

จากสัญญาฉบับนี้บอกให้รู้ว่าสมัยนั้นผู้ที่มีอำนาจของตระกูลคือ ตันจูเบ้ง หรือหลวงสุนทรสิทธิโลหะ ซึ่งในบทความของ William Cameron เรื่อง On The Pattani ซึ่งตีพิมพ์ใน Journal Of The Singapore Branch Royal Asiatic Social ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๒๖ เรียกท่านว่า Tan Chew Beng, Datoh of the mines ผู้ที่คุมอำนาจเกี่ยวกับเหมืองแร่ในพื้นที่ถ้ำทะลุทั้งหมด

นอกจากนี้ยังทำให้รู้ว่าในสมัยนั้นแร่ดีบุกเรียกว่า galena ซึ่งหมายถึงตะกั่ว และกระบวนการทำเหมืองที่ถ้ำทะลุในสมัยนั้นต้องใช้การระเบิดหินเพื่อหาสายแร่ จึงมีการซื้อขายแร่แลกกับดินปืนและชนวนระเบิด เป็นแบบ barter trade ในปัจจุบันที่แลกขายสินค้ากัน
และมีการร่วมลงทุนโดยบริษัทต่างชาติลงทุนเครื่องมือ แต่ทางเรารับผิดชอบกระบวนการขุดและขนส่ง
บรรพบุรุษเราทันสมัยไม่เบาเลยนะครับที่กล้าทำสัญญาแบบนี้กับฝรั่งต่างชาติ


หลวงสุนทรสิทธิโลหะ(ตันจูเบ้ง) กับชาวต่างชาติ

วันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2559

เรื่องที่ ๑๐ ประวัติ "วัฒนายากร"

วัฒนายากร

ย่าผมมาจากสกุลวัฒนายากร ถ้านับลำดับชั้นของสายสกุลวัฒนายากรในเมืองไทย ย่าเป็นชั้นที่ ๓ ผมจึงเป็นชั้นที่ ๕
แต่พบว่ามีข้อมูลของสกุลวัฒนายากรที่ถ่ายทอดมายังลูกหลานน้อยมาก ผมจึงพยายามค้นคว้าหาข้อมูลจากทุกแหล่งที่สามารถเก็บเกี่ยวให้เป็นประโยชน์แล้วนำมาเรียงต่อเป็นจิ๊กซอว์ จนในที่สุดผมก็ได้อะไรที่เป็นรูปเป็นร่างชัดเจนขึ้นระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่อาจพูดได้เต็มปากว่านี่คือข้อมูลที่สมบูรณ์ เพราะบางอย่างเป็นจากการคาดคะเนของผมแบบอิงตามความน่าจะเป็น

ต้นตระกูลวัฒนายากร จากป้ายจารึกหน้าฮวงซุ้ยระบุว่าชื่อ ซิมบุ่นหงี่ ภรรยาชื่อ เหง่าซุนมก แต่จากเอกสารที่คุณรชฏ คณานุรักษ์ ได้นำมาเผยแพร่มีตอนหนึ่งที่คุณปู่ขุนธำรงพันธุ์ภักดี(ซุ่นจ่าย วัฒนายากร) เอ่ยถึงคุณปู่โฮ่เส้ง ซึ่งผมไม่แน่ใจว่า โฮ่เส้ง กับ บุ่นหงี่ จะเป็นคนเดียวกันหรือเปล่า แต่ปกติธรรมเนียมจีนโบราณเวลามีการสร้างฮวงซุ้ยให้ผู้ตายจะนิยมขนานนามผู้ตายใหม่ไม่ใช้ชื่อเดิมเมื่อมีชีวิต อาจจะเป็นไปได้ว่าเมื่อมีชีวิตท่านชื่อ ซิมโฮ่เส้ง พอตายได้รับการขนานนามว่า ซิมบุ่นหงี่

สำหรับ เหง่าซุนมก อันแซ่เหง่านี้จะมี ๒ สายสำคัญคือสายที่มาจาก ณ สงขลา กับสายที่มาจาก เหง่าฮกแช ที่เป็นต้นสกุลโกวิทยา แต่จากคำบอกเล่าของหลายท่านบอกว่า เหง่าซุนมก มาจากสาย ณ สงขลา เนื่องจากตอนที่ทำการย้ายฮวงซุ้ย ซิมบุ่นหงี่และเหง่าซุนมก จากถนนรามโกมุทไปที่ปะกาฮารัง พบว่าซิมบุ่นหงี่เป็นศพในโลง ส่วนเหง่าซุนมกเป็นกระดูกในโถ อาจจะเป็นได้ที่ เหง่าซุนมก มาจาก ณ สงขลา และมีความคุ้นเคยกับประเพณีวัฒนธรรมแบบไทยมากกว่าจีนจึงสั่งลูกหลานว่าเมื่อตายลงให้เผาแทนที่จะฝัง

จากป้ายจารึกหน้าฮวงซุ้ยระบุว่า ซิมบุ่นหงี่และเหง่าซุนมก มีลูกชาย ๒ คนคือ ซิมขุ้นฮวด และซิมฉุ้นฮวด มีลูกสาว ๒ คนคือ ซิมโง้ยกี และซิมซัวแต๋ แต่ข้อมูลที่ได้จากญาติพบว่ามีลูกสาว ๓ คน เมื่อไล่จากเอกสารของคุณปู่ขุนธำรงพันธุ์ภักดีจึงพบว่าคนที่ตกหล่นไปชื่อ ซิมกุยกี่

สรุปว่า ซิมบุ่นหงี่หรือซิมโฮ่เส้ง กับ เหง่าซุนมก มีลูก ๕ คนคือ
      ๑. ซิมขุ้นฮวด
      ๒.ซิมโง้ยกี
      ๓. ซิมซัวแต๋
      ๔. ซิมกุยกี่
      ๕. ซิมฉุ้นฮวด

คราวนี้มาว่ากันต่อรายตัวสำหรับชั้นที่ ๒
๑.  นายซิมขุ้นฮวด มีภรรยา แต่ไม่ทราบชื่อทราบแต่ว่าเป็นบุตรสาวนางเบ้งจูกับเถ้าแก่ว่อง ตัวนางเบ้งจู แซ่จุ่ง เป็นบุตรสาวเจ๋าโรงเหล้า เป็นพี่สาวของนางเบ้งซ่วน แซ่จุ่ง ภรรยาคุณพระจีนคณานุรักษ์ ไม่มีลูกสืบสกุล
๒.  นางซิมโง้ยกี่ แต่งงานกับนายเหง่าล้ายจอง โกวิทยา ลูกพี่ชายคนโตของนายเหง่าฮกแช สามีนางตันเบ้งจู นางซิมโง้ยกี่มีลูกสาว ๑ คนชื่อนางเหง่าโป้เฮี้ยว
๓.  นางซิมซัวแต๋ หรือที่เรียกกันว่า ป้าแต๋ เป็นหม้าย บางคนเล่าว่าต่อมาได้เป็นภรรยาของขุนพิพิธภาษี(เหง่าบั่นหลี โกวิทยา) ขุนพิพิธภาษีเป็นบุตรนายเหง่าฮกแชกับนางตันเบ้งจู (พี่สาวคุณพระจีนฯ) นางซัวแต๋ไม่มีบุตรธิดา ภายหลังนางซัวแต๋ อาศัยอยู่กับนายฉุ้นฮวด ผู้เป็นน้องชายที่บ้านตึกหลวงสุนทรสิทธิโลหะ(ตันจูเบ้ง)ภายในสวนหลังบ้านอาสมพร วัฒนายากร ปัจจุบันนี้
นางซัวแต๋ได้ชื่อว่าเป็นพวก "แซ่นิยม" คือรักหลานแซ่ซิมมากกว่าหลานแซ่ตัน จะเก็บผลไม้ดีๆไว้ให้หลานแซ่ซิม แต่เอาของสุกจัดใกล้เน่าให้หลานแซ่ตัน ฮิๆๆ เรื่องจริงนะนี่ พวกพ่อเขาเล่าให้ฟัง
๔.  นางซิมกุยกี่ หลังจากที่นางซิมโง้ยกี่ถึงแก่กรรม นายเหง่าล้ายจองจึงได้นางซิมกุยกี่เป็นภรรยาอีกคน มีลูกสาว ๑ คนชื่อนางเหง่าโป้เหี้ยง
๕.  นายซิมฉุ้นฮวด แต่งงานกับนางตันโป้เลี่ยง ลูกสาวหลวงสุนทรสิทธิโลหะ(ตันจูเบ้ง)และนางหนูจีบ ณ สงขลา ไม่มีลูกด้วยกัน ต่อมานางตันโป้เลี่ยงถึงแก่กรรมนายซิมฉุ้นฮวดจึงได้แต่งงานกับนางตันเป้าเลี่ยง น้องสาวนางตันโป้เลี่ยง มีลูกคือ
๕.๑ ขุนธำรงพันธุ์ภักดี(ซิมซุ่นจ่าย)
๕.๒ นางเสริมสุข(ซิมซุ่นขิ้ม)
๕.๓ นายซิมซุ่นหลิ่ม
๕.๔ น.ส.ซิมซุ่นหยอก
๕.๕ นางอวยพร(ซิมซุ่นเอ็ก)
๕.๖ นางดวงเดือน(ซิมซุ่นโอ๊ย)
๕.๗ นางเปรมจิตร(ซิมซุ่นเอ้ง)

ชั้นที่ ๓
ชั้นนี้เหลือที่มีลูกหลานต่อมาเพียง ๓ สาย เพราะนายซิมขุ้นฮวด และนางซิมซัวแต๋ ไม่มีลูก

สายนางซิมโง้ยกี่
นางซิมโง้ยกี่แต่งงานกับนายเหง่าล้ายจอง โกวิทยา สำหรับโกวิทยา หรือแซ่เหง่า จะมี ๒ สายสำคัญคือสายที่เกี่ยวข้องกับนางตันเบ้งจู และสายที่ไม่เกี่ยวข้องกับนางตันเบ้งจู ซึ่งจะขอเก็บไว้เล่าตอนท้ายของบทความนี้ ช่วงนี้ขอเน้นที่ วัฒนายากร หรือแซ่ซิมก่อนครับ
นางซิมโง้ยกี และนายเหง่าล้ายจองมีลูกสาว ๑ คน ชื่อ นางเหง่าโป้เฮี้ยว โกวิทยา นับว่าเป็นชั้นที่ ๓ ของวัฒนายากร
นางเหง่าโป้เฮี้ยว โกวิทยา แต่งงานกับนายเซียวฉุยชะ รัตนไพศาล เดิมใช้นามสกุล เซียวประชา มีลูกคือ
๑.      นายวิชุณห์(เต็งชุ้น) รัตนไพศาล
๒.      นางสมถวิล อิงคยุทธ
๓.      น.ส.หลั่น รัตนไพศาล
๔.      ศ.ทพ.เจน รัตนไพศาล
๕.      นางชูศรี โล่สุวรรณ
๖.      นายวิรุณห์(เต็งกี่) รัตนไพศาล
๗.      น.ส.ประทิน รัตนไพศาล
๘.      นายพงษ์พันธุ์ รัตนไพศาล

สายนางซิมกุยกี่
หลังจากนางซิมโง้ยกี่ถึงแก่กรรม นายเหง่าล้ายจองได้แต่งงานกับนางซิมกุยกี่ น้องสาวนางซิมโง้ยกี่ มีลูก ๑ คน คือนางเหง่าโป้เหี้ยง
นางเหง่าโป้เหี้ยง โกวิทยา แต่งงานกับนายตันขุ้นชุ้น หรือฉิ้นชุ้น ตันธนวัฒน์ มีลูกคือ
๑.      น.ส.ซ่วนลี้ ตันธนวัฒน์
๒.      นางสุธรรม(เหล่ง) ตันธนวัฒน์
๓.      พ.ต.มนู(เสี่ยง) ตันธนวัฒน์

สายนายซิมฉุ้นฮวด
เป็นสายเดียวที่สืบสกุล “วัฒนายากร” นายซิมฉุ้นฮวด วัฒนายากรแต่งงานครั้งแรกกับนางตันโป้เลี่ยง คณานุรักษ์ ลูกสาวหลวงสุนทรสิทธิโลหะ(ตันจูเบ้ง) และนางหนูจีบ ณ สงขลา แต่นางตันโป้เลี่ยงถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังไม่มีลูก นายซิมฉุ้นฮวดจึงแต่งงานใหม่กับนางตันเป้าเลี่ยง น้องสาวนางตันโป้เลี่ยง มีลูก ๗ คน แบ่งเป็น
๑.  สายขุนธำรงพันธุ์ภักดี
ขุนธำรงพันธุ์ภักดี(ซิมซุ่นจ่าย วัฒนายากร) แต่งงานกับนางสร้อยทอง (ตันซุ่ยถ้อง คณานุรักษ์) ลูกสาวขุนพิทักษ์รายา(ตันบั่นซิ่ว)และนางเซ่งขิ้ม มีลูกคือ
๑.๑ นายสารัตถ์ วัฒนายากร
๑.๒ นายภิญโญ วัฒนายากร
๑.๓ นายจำเริญ วัฒนายากร
๑.๔ นายมงคล วัฒนายากร
๑.๕ นายสมพร วัฒนายากร
๑.๖ นางโสภาพันธุ์(วัฒนายากร) สุวรรณจินดา
๑.๗ ด.ญ.วิไลพันธุ์ วัฒนายากร
๑.๘ นายสวัสดิ์ วัฒนายากร
๑.๙ นายวิโรจน์ วัฒนายากร
๑.๑๐ พล.ต.ต. นพ.วิบูลย์ วัฒนายากร
๑.๑๑ พ.ต.อ.วิวัฒน์ วัฒนายากร
๒.  สายนางเสริมสุข
นางเสริมสุข(ซิมซุ่นขิ้ม วัฒนายากร) แต่งงานกับนายอนันต์(ตันขุ้นขิ้ม) คณานุรักษ์ ลูกชายขุนจำเริญภักดี(ตันบั่นฮก)และนางอิ่ม มีลูกคือ
๒.๑ นายมานพ(ตันเอียงก้อง) คณานุรักษ์
๒.๒ นายสุนนท์(ตันเอียงเหล่ง) คณานุรักษ์
๒.๓ นายจำรูญ(ตันเอียงหยิ่น) คณานุรักษ์
๒.๔ นางละออง(ตันบี๋สิ้ม) คณานุรักษ์
๒.๕ นายประเวศ(ตันเอียงซิ่น) คณานุรักษ์
๒.๖ นายเติมศักดิ์(ตันเอียงจ่วน) คณานุรักษ์
๒.๗ นางละมุล(คณานุรักษ์) สาครินทร์
๒.๘ นางละม่อม(คณานุรักษ์) สมัครพันธุ์
๓.  สายนายซิมซุ่นหลิ่ม
นายซิมซุ่นหลิ่ม วัฒนายากร แต่งงานกับนางวไล(ตันซุ่ยเอี้ยน หรือมล คณานุรักษ์ ลูกสาวขุนพิทักษ์รายา(ตันบั่นซิ่ว)และนางเซ่งขิ้ม มีลูกคือ
๓.๑ นางประคอง วัฒนายากร
๓.๒ น.ส.ประไพ วัฒนายากร
๓.๒ นางประจวบพร(วัฒนายากร) โกมลตรี
๓.๓ นายศรีสุขสวัสดิ์ วัฒนายากร
๔.  สายนางอวยพร
นางอวยพร(ซิมซุ่นเอ็ก วัฒนายากร) แต่งงานครั้งแรกกับนายเสถียร(ตั้นขุ้นเถี้ยน) คณานุรักษ์ ลูกชายขุนจำเริญภักดี(ตันบั่นฮก)และนางอิ่ม มีลูกคือ
๓.๑ นายสมบูรณ์ คณานุรักษ์
๓.๒ นายสมจิตร คณานุรักษ์
ต่อมาแต่งงานกับ พล.ต.ต.อรรถพล สูยะโพธิ์ ไม่มีลูกด้วยกัน
๕.  สายนางดวงเดือน
นางดวงเดือน(ซิมซุ่นโอ๊ย วัฒนายากร) แต่งงานกับนายดิเรก(ตันซุ่ยเหรก) คณานุรักษ์ ลูกชายขุนพิทักษ์รายา(ตันบั่นซิ่ว)และนางเซ่งขิ้ม มีลูกคือ
๕.๑ นายกุศล คณานุรักษ์
๕.๒ พ.ญ.สุคนธ์(คณานุรักษ์) มุ่งการดี
๕.๓ นายพินิจ คณานุรักษ์
๕.๔ นางสุวรรณา(คณานุรักษ์) วัฒนายากร
๖.  สายนางเปรมจิตร
นางเปรมจิตร(ซิมซุ่นเอ้ง วัฒนายากร) แต่งงานกับนายสุรพันธ์(อึ้งเบ้งหิ้น) จงรักษ์ มีลูกคือ
๖.๑ น.ส.ทินประภา จงรักษ์
๖.๒ นายสามารถ คณานุรักษ์
๖.๓ นางอรนุช(จงรักษ์) แก้วใจกล้า
๖.๔ ทพ.ชัยชาญ จงรักษ์
๖.๕ นางอรวรรณ(จงรักษ์) ศรีกระจ่าง

เป็นอันว่าจบรายละเอียดเบื้องต้นของ “วัฒนายากร” ส่วนรายละเอียดชั้นต่อจากนี้ รอภาคต่อไป เมื่อได้ข้อมูลเพิ่มเติมสมบูรณ์

ภาคผนวก เรื่องของแซ่เหง่า “โกวิทยา”
ที่เมืองจีนมี ๓ พี่น้องแซ่เหง่า
คนโต มีลูกชาย ๒ คนชื่อ เหง่าล้ายบู๊ และ เหง่าล้ายจอง
คนที่ ๒ มีลูกชาย ๑ คนชื่อ เหง่าเถี้ยนหลอก แต่งงานกับ นางตันโบ้ยห้วย คณานุรักษ์ ลูกสาวหลวงวิชิตศุลกากร(ตันจูอิ้น) มีลูกชื่อ ซ่วนเฮียง ซ่วนซิ้ม ซ่วนหลุย ตงเอี่ยง ตงฉุ้น
คนที่ ๓ ชื่อ เหง่าฮกแช
นายเหง่าฮกแช มีเมีย ๒ คน เมียเมืองจีน มีลูกชาย ๑ คน มีหลานชาย ๓ คน หลานชายคนโต เป็นพ่อลุงวิเชียร โกวิทยา หลานชายคนที่ ๒ เป็นพ่อลุงโจ โกวิทยา หลานชายคนที่ ๓ ชื่อ ฮักเลี่ยม โกวิทยา

เมียเมืองไทย คือ นางตันเบ้งจู ลูกสาวหลวงสำเร็จกิจกรจาง(ตันปุ่ย) มีลูกชาย ๑ คน ชื่อ เหง่าบั่นหลี่ ได้เป็น ขุนพิพิธภาษี แต่งงานกับ นางตันกี่เลี่ยง คณานุรักษ์ ลูกสาวหลวงสุนทรสิทธิโลหะ(ตันจูเบ้ง) 

นางตันเป้าเลี่ยง และนายซิมฉุ้นฮวด

ขุนธำรงพันธุ์ภักดี(ซิมซุ่นจ่าย)
และนางสร้อยทอง(ตันซุ่ยถ้อง)
นายอนันต์(ตันขุ้นขิ้ม) และนางเสริมสุข(ซิมซุ่นขิ้ม)

นายซิมซุ่นหลิ่ม
แถวหน้าจากซ้าย นางอวยพร(ซิมซุ่นเอ็ก), นางเสริมสุข(ซิมซุ่นขิ้ม)
แถวหลังจากซ้าย นางดวงเดือน(ซิมซุ่นโอ๊ย), นางเปรมจิตร(ซิมซุ่นเอ้ง)
นางเหง่าโป้เฮี้ยว และนายเซียวฉุยชะ

วันศุกร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2559

เรื่องที่ ๙ เรื่องของตระกูลบนซองจดหมาย

ในช่วง ๑๐ กว่าปีที่ผ่านมา
ผมมีสภากาแฟอยู่ในโลกไซเบอร์
มีชื่อว่า ทิพย์สถานที่เราอยู่คือรูสะมิแล
เป็นกระทู้อยู่ในห้อง blueplanet เว็บพันทิป
ซึ่งคนตั้งกระทู้เป็นเด็กปัตตานี ใช้ชื่อว่า ขาJohn
เป็นผู้รอบรู้สารพัดคนหนึ่ง
เคยเล่นวิทยุสมัครเล่น รู้จักกันดีกับญาติเราที่ใช้ call sign ว่า
Hotel Sierra One Papa Delta Yankee (HS1PDY)
เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๕๑ ขาJohn เอารูปซองจดหมายหายากมาโพสท์
เป็นซองจดหมายจำนวน ๙ ซอง ที่ติดแสตมป์รูปรัชกาลที่ ๙
แต่ทั้ง ๙ ซองนี้ มีราคาประมูลอยู่ที่ ๑๖๐,๐๐๐ บาท
เพราะตราประทับเป็นตราประทับที่เป็นที่ทำการไปรษณีย์บนเรือเดินสมุทร
คนอื่นก็อาจจะดูเป็นของราคาแพงธรรมดา
แต่ผมสังเกตเห็น ๑ ในจำนวนนั้น มีชื่อผู้ส่งน่าสนใจมาก
ชื่อผู้ส่งเป็นภาษาอังกฤษ เขียนว่า

TAN BEE CHIANG
SAIBURI
Siam



ผมรู้สึกสังหรณ์ใจว่าชื่อนี้น่าจะเกี่ยวข้องอะไรกับผมบ้าง
ผมรีบหาข้อมูลทันที
เป็นความโชคดีของผมที่พอผมโทรศัพท์หาพ่อผม
ถามว่าเคยได้ยินชื่อ ร้านตันบี๋เชียง หรือเปล่า อยู่ที่สายบุรี
พ่อผมตอบมาทันทีแบบไม่ลังเลว่า ทำไมจะไม่รู้จัก
เป็นชื่อร้านของ ปู่ขุนอนุพันธุ์ภักดี(ฮกกุ่ย คณานุรักษ์)

ไม่น่าเชื่อว่าจากการสังเกตอะไรนิดหน่อย
ทำให้ผมสามารถเก็บเกี่ยวข้อมูลของตระกูลได้เพิ่มเติม

ผมไม่แน่ใจว่าลูกหลานสายตรงของปู่ขุนอนุพันธุ์ภักดี
จะรู้จักชื่อ ตันบี๋เชียง กันหรือเปล่า

เหมือนกับที่ผมไม่แน่ใจว่าลูกหลานสายตรงของปู่ขุนธำรงพันธุ์ภักดี(ซุ่นจ่าย วัฒนายากร)
จะรู้จักชื่อร้าน HUP SOON และ SIM SOON CHYE Co.Ltd. กันหรือเปล่า

ช่วยกันเก็บเรื่องราวของบรรพบุรุษไว้นะครับ
วันนี้อาจจะไม่มีประโยชน์สำหรับคุณ
แต่สักวันหนึ่งจะมีคนที่ต้องการประโยชน์จากข้อมูลเหล่านี้ครับ

วันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2559

เรื่องที่ ๘ เมื่อข้าพเจ้าเป็นเด็กห้วตลาด

เมื่อเอ่ยคำว่าหัวตลาดไม่มีชาวปัตตานีคนใดที่ไม่รู้จัก  หัวตลาดเป็นย่านชุมชนเก่าแก่แห่งหนึ่งของปัตตานี เป็นถิ่นที่อยู่ของชาวจีนมาตั้งแต่สมัยโบราณเดิมเรียกว่า ตลาดจีน  หรือ กะดาจีนอ ข้าพเจ้าเป็นผู้หนึ่งที่โชคดีได้เติบโตมาในถิ่นหัวตลาด ตลอดระยะเวลา 30 ปีเศษที่ ข้าพเจ้าได้เห็น หัวตลาด พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปมากตามความเจริญของบ้านเมือง ข้าพเจ้าจึงเกิดความคิดที่จะบันทึกเรื่องราวของหัวตลาดในสมัยที่ข้าพเจ้าเป็นเด็กในลักษณะของการบอกเล่าตามความทรงจำ ซึ่งบางตอนอาจคลาดเคลื่อนแต่ก็เพียงเล็กน้อย ทั้งนี้เพื่อที่คนรุ่นหลังที่มีโอกาสได้อ่านบทความของข้าพเจ้าจะได้รับรู้เรื่องราวในอดีตของชุมชนหัวตลาด

ก่อนอื่นก็ต้องแนะนำให้ท่านรู้จักกับ ถนนอาเนาะรู เสียก่อน เพราะถนนอาเนาะรูเป็นถนนสายหลักของหัวตลาด และเป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ของข้าพเจ้ากับหัวตลาด  ถนนสายนี้มีแนวถนนพาดจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก มีความยาวประมาณ 400 เมตร  หัวถนนฝั่งตะวันออกไปบรรจบกับถนนนาเกลือ  ส่วนหัวถนนฝั่งตะวันตกเป็นแม่น้ำปัตตานี ก่อนถึงริมน้ำเล็กน้อยจะเป็นสี่แยกตัดกับถนนปัตตานีภิรมย์ ในช่วงตอนกลางของถนนอาเนาะรูจะมีถนนปะนาเระมาบรรจบเป็นสามแยก เดิมทีถนนอาเนาะรูเป็นถนนคอนกรีต แต่คอนกรีตที่ว่านี้ไม่ใช่คอนกรีตเสริมเหล็กหรือ คสล.นะครับ แต่เป็นคอนกรีตโบราณคือแทนที่โครงจะเป็นเหล็กกลับใช้วัสดุธรรมชาติคือไม้ไผ่ โดยใช้ไม้ไผ่มาวางสานกันเป็นโครงแล้วราดด้วยปูนขาวทับ ต่อมาภายหลังมีการซ่อมแซมอีกหลายครั้งจนกระทั่งในที่สุดก็กลายเป็นถนนราดยางมะตอยตามที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ แทบจะไม่น่าเชื่อเลยนะครับว่าถนนสายเล็กๆสายนี้จะเป็นย่านที่มีความเจริญมากในอดีต เต็มไปด้วยเรื่องราวแห่งประวัติศาสตร์ เป็นจุดกำเนิดของตระกูลใหญ่หลายตระกูล ซึ่งข้าพเจ้าคงมีโอกาสได้เล่าให้ท่านฟังต่อไปในภายหน้าครับ


เดิมทีครอบครัวข้าพเจ้าอยู่ที่จังหวัดนราธิวาส เพราะพ่อไปช่วยป้าละอองทำธุระกิจที่นั่น ข้าพเจ้าและน้องๆจึงเกิดที่นราธิวาส แต่ไปแจ้งเกิดที่ปัตตานีกันทุกคน จนกระทั่งปี พ..2509 คุณย่าเสริมสุขถึงแก่กรรม  พ่อจึงย้ายกลับมาอยู่ที่ปัตตานี ขณะนั้นข้าพเจ้ามีอายุได้ 5 ปี สามารถจดจำเรื่องราวต่างๆได้พอสมควร ครอบครัวเราอาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ 29 ถนนอาเนาะรู   ซึ่งเป็นบ้านของนายอนันต์ คณานุรักษ์ คุณปู่ของข้าพเจ้า บ้านหลังนี้ตั้งอยู่ตรงสามแยกถนนอาเนาะรูตัดกับถนนปะนาเระ เป็นตึก 2 ชั้น หันหน้าไปทางทิศใต้ ทาสีขาว ผู้คนส่วนใหญ่จึงเรียกว่าบ้านตึกขาว แรกเริ่มเดิมทีบ้านหลังนี้เป็นบ้านของคุณพระจีนคณานุรักษ์(ตันจูล้าย) ซึ่งเป็นปู่ของคุณปู่อนันต์ เป็นตึก 2 ชั้น ทรงจีนโบราณ ก่อสร้างในราวปี พ..2426   พระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 เคยแวะประทับเมื่อครั้งที่เสด็จประพาสตลาดจีน และศาลเจ้าแม่ลิ่มกอเหนี่ยว ภายหลังตกเป็นกรรมสิทธิ์ของคุณย่าทวดยาง ภรรยาคนที่ของคุณปู่ทวดพระจีนฯ ต่อมาคุณทวดกุ้ยกี ธิดาคุณย่าทวดยางได้ ขายให้คุณย่าทวดยี่เหนี่ยว ภรรยาคนที่ 3ของคุณปู่ทวดพระจีนฯ คุณปู่อนันต์ได้ซื้อต่อจากคุณทวดยี่เหนี่ยวเมื่อ พ..2476 ในราคา 2,200 บาท คุณปู่ได้บันทึกไว้ในสมุดบันทึก เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ..2486 ว่านับเป็นโชคดีของท่านที่ได้บ้าน หลังนี้กลับมาเป็นกรรมสิทธิ์ เพราะเมื่อคุณทวดอิ่มมารดาของคุณปู่กำลังตั้งครรภ์ คุณทวดขุนจำเริญภักดี(ตันบั้นฮก) บิดาของคุณปู่มีธุระต้องรีบเดินทางเข้ากรุงเทพฯ จึงได้นำคุณทวดอิ่มซึ่งจวนจะคลอดไปฝากไว้กับคุณย่าทวดยางที่บ้านหลังนี้ และคุณทวดอิ่มได้คลอดคุณปู่  เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ..2439 ที่เรือนเล็กบริเวณหลังบ้านเลขที่ 29 ถนนอาเนาะรูแห่งนี้ คุณปู่อนันต์ได้ทำการซ่อมแซมเปลี่ยนแปลงจากตึกจีนโบราณเป็นตึกทรงทันสมัย บริเวณบ้านแบ่ง เป็น 3 ตอน ด้านหน้าคือตัวตึก ตอนกลางเป็นเรือนไม้หลังใหญ่ 2 ชั้น มีทางเดินติดต่อกับตึกหน้าได้ ตอนหลังเป็นห้องครัว และสวน


บ้านตึกขาว เดือนตุลาคม พ.ศ.๒๔๙๔


หน้าบ้านตึกขาว เดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๔๙๔

ตัวตึกด้านหน้าเป็นตึก 2 ชั้น ชั้นล่างทางด้านซ้ายเป็นที่จอดรถ ตรงกลางเป็นห้องรับแขก ที่ห้องรับแขกจะมีประตูเดินออกไปตอนกลางของบ้าน ๒ ประตูซ้ายขวา เหนือประตูทั้ง ๒ ข้างมีรูปวาดคุณปู่ทวดพระจีนคณานุรักษ์ และคุณทวดขุนจำเริญภักดีแขวนเหนือประตู ด้านขวาของตัวตึกหน้าเป็นห้องพักของลุงสุนนท์ ห้องนี้เล่ากันว่ามีอาถรรพ์แรงเพราะเคยเป็นห้องขังทาสในสมัยก่อน เมื่อขึ้นบันไดไปชั้นบนจะเป็นเฉลียง มีแคร่นอนเล่นของคุณย่า และเก้าอี้หวายนอนเล่นของคุณปู่ มีประตูเข้าห้องโถง เหนือประตูมีภาพวาดคุณปู่ทวดพระจีนฯ ด้านซ้ายขวาเป็นภาพวาดคุณปู่ และคุณย่า ภาพวาดชุดนี้เป็นฝีมือการวาดของนายบุญหิ้น ชูอ่องสกุล หรือที่ผมเรียกว่าน้าขี้หมิ้น ช่างพ่นสีรถยนต์มือหนึ่งของปัตตานี เข้าห้องโถงชั้นบนไป ด้านซ้ายเป็นห้องพักของคุณปู่ ส่วนด้านขวาเป็นห้องพักของครอบครัวข้าพเจ้า  ในห้องโถงจะมีโต๊ะหมู่บูชาของคุณปู่ ข้างโต๊ะหมู่บูชาจะมีตู้กระจกใบหนึ่ง ภายในตู้จะเก็บซากลูกกรอกหรือกุมารทอง 2 คน คือบุญฤทธิ์ และบุญลาภ ซึ่งเป็นลูกแฝดที่คุณย่าคลอดก่อนกำหนด นอกจากนี้ยังมีซากของนกลูกแดง ซึ่งเป็นนกเขาชวาที่คุณปู่รักมาก เคยสร้างชื่อเสียงให้กับคุณปู่ในการแข่งขันนกเขาชวาเสียงครั้งอดีต เคยมีผู้นำรถเบนซ์มาขอแลกกับคุณปู่มาแล้ว

ชั้นบนบ้านตึกขาว เดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๔๙๔

โถงกลางชั้นบน ด้านซ้ายคือห้องปู่ ด้านขวาคือห้องข้าพเจ้า

กุมารทองและเครื่องเรือนภายในตู้

             

เรือนไม้ด้านหลังชั้นล่างจะเป็นโถงโล่ง ด้านขวากั้นเป็นห้องไว้ 2 ห้อง เอาไว้เป็นห้องเล่นไพ่ตองของบรรดาญาติมิตรของคุณปู่คุณย่า ห้องนี้เป็นแหล่งเงินแหล่งทองของข้าพเจ้า   เพราะบรรดาขาไพ่ทั้งหลายซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุนั่งนานๆก็เกิดอาการปวดเมื่อย ข้าพเจ้าก็จะไปบริการบีบนวดให้ ท่านเหล่านั้นก็จะให้เงินไว้กินขนมครั้งละ 1 บาท เมื่อขึ้นบันไดหลังชั้นบนด้านซ้าย เป็นห้องพักของครอบครัวอาเติมศักดิ์  ด้านขวาเป็นห้องพักของครอบครัวอาละมุล

ระหว่างตัวตึกหน้ากับเรือนไม้ ชั้นล่างจะมีบ่อเลี้ยงปลากัด และห้องน้ำกับบ่อน้ำ ชั้นบนจะเป็นทางเดินติดต่อกันมีห้องน้ำ 1 ห้อง และวางโต๊ะกินข้าวขนาดใหญ่ 1 ตัว นอกจากนี้ที่โถงด้านล่างจะมีประตูเล็กๆ สำหรับเดินออกไปในตรอก ตรอกเล็กๆนี้เป็นที่เลี้ยงปลากัดของคุณปู่ และลุงสุนนท์ เป็นเขตหวงห้ามสำหรับเด็กๆ เพราะเกรงว่าจะไปทำให้ปลากัดตกใจ หรือขวดปลากัดตกแตก ตรอกนี้เดิมเป็นตรอกสำหรับข้าทาสในบ้านเดินเข้าออก ซึ่งทุกบ้านที่เป็นเรือนจีนในหัวตลาดจะต้องมีตรอกแบบนี้ เพราะมีข้อห้ามอย่างหนึ่งว่าเวลาข้าทาสในบ้านตายห้ามนำศพ ออกทางประตูใหญ่หน้าบ้าน ต้องนำศพออกทางตรอกนี้เท่านั้น
             

ด้านหลังเรือนไม้จะมีโรงครัวขนาดย่อมและสวน ในสวนจะมีบ่อปลาเหมือนกับที่ด้านหน้า บ่อหลังบ้านนี้เดิมทีขุดขึ้นมาเพื่อใช้เป็นหลุมหลบภัยเมื่อคราวญี่ปุ่นบุกปัตตานี  ที่บริเวณริมกำแพงหลังบ้านมีความสำคัญ เพราะว่าในงานเทศกาลแห่พระศาลเจ้าแม่ลิ่มกอเหนี่ยวทุกปี ผู้หามพระหมอจะต้องมาทำการปักหลัก โดยหลักที่ปักนี้เป็นยันต์ปักเพื่อขจัดเภทภัยทั้งหลาย บ้านหลังนี้เป็นบ้านหลังเดียวที่มีการปักหลักภายในบ้าน ในปัจจุบันนี้ข้าพเจ้าจะทำหน้าที่หามเกี้ยวพระหมอทำพิธีปักหลักในบ้านทุกปี
              

ภายในบ้านคุณปู่นับว่าเป็นกงสีใหญ่แห่งหนึ่ง คุณปู่จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด เช้าขึ้นมาจะมีอาหารและขนมสารพัดอย่างวางไว้ที่โต๊ะกินข้าว ใครจะกินอะไรก็ได้ เมื่อกินอาหารเช้าเสร็จ  ข้าพเจ้าและน้องๆ ก็จะไปกราบคุณปู่ซึ่งจะนอนเล่นที่เก้าอี้หวาย คุณปู่ก็จะแจกเงินเป็นค่าขนมที่โรงเรียน ตอนเย็นกลับจากโรงเรียนก็มากราบคุณปู่แล้วรับเงินไปซื้อก๋วยเตี๋ยวกินกันอีก 

บ่อปลากัดกลางบ้าน ด้านหลังคือห้องเล่นไพ่

บรรยากาศชั้นบน เสาบังห้องน้ำชั้นบนของย่าพอดี
ตรงข้ามบ้านคุณปู่เป็นบ้านยกพื้นมีใต้ถุนของลุงจิ้นกับป้าโป้เอง ศรีคุณะซ้าย  ลุงจิ้นหรือที่ ใครๆเรียกว่าครูจิ้นทำงานที่บริษัทธำรงวัฒนาจำกัด ป้าเองเป็นญาติกับคุณปู่ทางคุณย่าทวดเบ้งซ่วน ภรรยาคุณปู่ทวดพระจีนฯ  ซึ่งเป็นย่าของคุณปู่ ที่บ้านลุงจิ้นจะมีเรือนปลูกต้นกล้วยไม้นานาพันธุ์   ตอนเย็นที่หน้าบ้านลุงจิ้นจะมีพวกรถเข็นขายก๋วยเตี๋ยว และรถเข็นขายขนมเด็กมาจอดรอลูกค้า ซึ่งก็คือพวกหลานทั้งหลายของคุณปู่  
             

ต่อไปนี้ข้าพเจ้าจะขอนำท่านเที่ยวหัวตลาดเมื่อประมาณสี่สิบปีที่แล้ว จากบ้านคุณปู่เดินเลียบไปทางฝั่งด้านเหนือของถนนอาเนาะรูไปทางทิศตะวันออก ติดกับบ้านคุณปู่จะเป็นตึกจีนโบราณ 2 ชั้น ติดกัน 2 หลัง จำได้คลับคล้ายคลับคลาว่าหลังแรกผู้ที่อาศัยอยู่ขณะนั้นคือป้าจงจิตร ศรีพจนารถหรือ ป้าถิ้น แม่ของพี่ศรีวิไล ปริชญากร ถัดไปเป็นร้านขายส่งขนมปังขนมจันอับตามตลาดนัด เดิมในอดีตตึก 2 หลังนี้และตึกของคุณปู่จะมีลักษณะเหมือนกันทุกอย่างเป็นเรือนแฝด 3 หลัง ดังที่สมเด็จกรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงกล่าวถึงไว้ในหนังสือชีวิวัฒน์เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จมาตลาดจีน ในปี พ..2427 ว่าที่ปลายถนนด้านเหนือมีตึกใหม่ของกัปตันจีนเป็นเรือนจีน 2 ชั้น 3 หลังแฝด หลังหนึ่งขื่อประมาณ 10 ศอก มีเฉลียงหน้าหลัง หลังแรกก็คือบ้านคุณปู่ หลังที่ 2 เป็นบ้านเดิมนายจูเซียน หลังที่ 3 เป็นของนายจูเส้ง น้องชายคุณปู่ทวดพระจีนฯ ปัจจุบันตึกหลังที่ถูกรื้อสร้างเป็นห้องแถว เมื่อตอนที่มีการรื้อถอนได้เจอป้ายหินแกรนิตจารึกชื่อสำหรับ ฮวงซุ้ยฝังศพนายจูเส้ง แต่ไม่ทราบว่าเพราะเหตุใดจึงถูกทิ้งไว้หลังบ้าน ปัจจุบันผู้ที่อาศัยอยู่ในห้องแถวที่สร้างใหม่ได้นำไปวางไว้ที่โคนต้นไม้และมีการจุดธูปเทียนบูชา ซึ่งข้าพเจ้าเข้าใจว่าคงเป็นการบูชาเพื่อขอโชคลาภ ซึ่งข้าพเจ้าคิดว่าลูกหลานสายตรงของนายจูเส้งน่าจะได้นำไปไว้บูชา  ถ้าข้าพเจ้ามีสิทธิก็จะขอนำไปประดิษฐานไว้ที่บริเวณสุสานของตระกูล ที่ได้รับ พระราชทานที่ดินจากรัชกาลที่ 6 ที่ริมคลองสามัคคี(คลองสิมิเงาะเดิม) ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน พ..2454   เพราะปัจจุบันเท่าที่ข้าพเจ้าได้สอบถามยังไม่มีผู้ใดบอกได้แน่ชัดว่าฮวงซุ้ยของนายจูเส้ง อยู่ที่แห่งหนตำบลใด  แต่ข้าพเจ้าก็ได้แต่ตั้งความหวังไว้เท่านั้น (ปัจจุบันทายาทสายนายจูเส้ง ได้นำไปไว้ ณฮวงซุ้ยจำลองนายจูเส้ง ที่จังหวัดยะลา)   
        

ถัดจากตึกแฝดนี้ไปก็เป็นตึกจีนเช่นกันแต่จำไม่ได้ว่าใครอาศัยอยู่ปัจจุบันรื้อทิ้งแล้ว ถัดไปอีก จะเป็นห้องแถวไม้ 2 ชั้น ห้องแรกเป็นบ้านลุงปรุง กับป้าฉาย ขจรวงศ์ ลุงปรุงทำงานเป็นพนักงานขับรถธนาคารกรุงศรีอยุธยา น้าณีลูกลุงปรุงมีลูก 3 – 4 คน เป็นเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกับข้าพเจ้า 1 คน  ถัดจากบ้านลุงปรุงเป็นบ้านยายสุจิตรแม่คุณครูเบญจมาศ ณ ระนอง คุณครูเบญจมาศสอนที่โรงเรียนบ้านสะบารัง เคยสอนวิชาภาษาอังกฤษข้าพเจ้าตอนชั้นประถมปีที่ต่อจากนั้นเป็นบ้านยกพื้น 2 ชั้น มีรั้วของน้าจั๊ม ภายในบริเวณบ้านมีหมูขี้พร้าหรือหมูบ้านนอนคลุกโคลนอยู่ ถัดไปเป็นห้องแถวไม้ 2 ชั้น มีบ้านน้าไข่ บ้านลุงไว ลุงไวเป็นสารถีรถสามล้อประจำบ้านคุณปู่ ถัดไปเป็นบ้านพวกนามสกุลวิมลจิตต์ทำงานสรรพากร จำชื่อไม่ได้ ปัจจุบันคือร้านลูกหยีป้านิ่ม ถัดไปเป็นบ้านของคุณยายหงวน คุณยายหงวนเป็นภรรยาคนหนึ่งของหลวงนฤบดินทรสวามิภักดิ์(คอยู่หุ้ย ณ ระนอง) อดีตนายอำเภอหนองจิก มีลูกคือ ร...ปรีดา ณ ระนอง น้าดาเป็นเพื่อนสนิทคนหนึ่งของพ่อ ภรรยาน้าดาคือครูเบญจมาศ ที่กล่าวถึงมาก่อนแล้ว ถัดไปรู้สึกจะเป็นบ้านแป๊ะซ้าน มีลูกหรือหลานชื่อตุ๋ย เรียนรุ่นก่อนข้าพเจ้าหลายปี จากนั้นก็เป็นศาลเจ้าแม่ลิ่มกอเหนี่ยว ซึ่งในขณะนั้นมีแต่ตัวศาล  ด้านหลังเป็นป่ามะพร้าว ยังไม่มีอาคารสันติสุขและอาคารที่พักเลย ฝั่งตรงกันข้ามของศาลเจ้าแม่ฯ ก็ยังเป็นลานดินกว้างๆมีแต่โรงมโนราห์เก่า 1 หลัง ไม่มีอัฒจันทร์ ไม่ได้ลาดพื้นคอนกรีต ถัดจากศาลเจ้าแม่ฯเป็นสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์  ด้านข้างสมาคมฯเป็นอาคารฮักเลี่ยม-ฮ่องเกียว โกวิทยา เป็นศาลาตั้งศพมีห้องเก็บโลงศพซึ่งพวกเราเด็กๆกลัวมากเวลาเดินผ่าน   ติดกับอาคารฮักเลี่ยมฯ เป็นที่ดินของคุณปู่ข้างในมีสถูป หรือที่เราเรียกกันว่า บัว บรรจุกระดูกบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ที่ดินแปลงนี้คุณปู่ซื้อมาจากคุณทวดเป้าเลี่ยง วัฒนายากร แม่ของคุณย่าเสริมสุข ในสมัยสงครามญี่ปุ่นบุกปัตตานี คุณปู่ใช้เป็นที่ปลูกผัก สวนครัวนานาชนิดไว้กินและแจกจ่ายชาวบ้านในละแวกใกล้เคียง จนกระทั่ง พ..2489 จึงได้สร้างบัว ติดกับบัวเป็นที่ว่างอยู่มุมถนนอาเนาะรูตัดกับถนนนาเกลือต่อมาได้สร้างเป็นบ้านพักประมงจังหวัดเดิมทีที่ตรงนี้เป็นโรงฆ่าสัตว์  จากตรงนี้ถ้าข้ามถนนนาเกลือไปจะเป็นวัดนิกรชนารามหรือวัดหัวตลาด ภายในวัดมีรูปปั้นพระสังข์กัจจายน์องค์ใหญ่ ผู้ปั้น คือ ร..วิเชียร แก่นทับทิม อดีตสามีของป้าประคอง วัฒนายากร  พวกเด็กๆอย่างข้าพเจ้าชอบไปแยงสะดือองค์พระเพราะเป็นรูกลวงโบ๋  วัดหัวตลาดนี้เดิมเป็นป่าช้า ศพคุณทวดอิ่ม แม่ของคุณปู่ก็ฝังที่นี่ ก่อนที่จะมาจัดงานเผาศพในภายหลัง  นอกจากนี้วัดหัวตลาดยังเป็นลานประหารในสมัยอดีต คุณย่าเคยเล่าให้พ่อฟังว่าเคยไปดูเขาประหารชีวิตโดยการตัดคอที่วัดหัวตลาด มีคนไปดูคับคั่งบางคนปีนต้นไม้ขึ้นไปดู พอเพชรฆาตลงดาบดังฉับ ก็มีเสียงดังตุ๊บ  ปรากฏว่าพวกที่ปีนต้นไม้ดูเกิดอาการหวาดเสียว เป็นลมตกต้นไม้ตามๆกัน วัดหัวตลาดจะเรียกว่า เป็นฌาปนสถานของตระกูลข้าพเจ้าก็ว่าได้เพราะไม่ว่าใครตายก็จะจัดงานเผาศพที่วัดนี้ทั้งนั้น

ถนนอาเนาะรูมองจากบ้านตึกขาวไปทางสามแยกวัดหัวตลาด

ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวในอดีต

ถนนอาเนาะรู สามแยกโรงน้ำแข็ง

จากวัดหัวตลาดข้าพเจ้าจะพาท่านเดินข้ามถนนนาเกลือไปยังอีกฟากหนึ่งของถนนอาเนาะรู   หัวมุมถนนอาเนาะรูฝั่งทิศใต้เป็นบ้านของจ่าหวาด ที่บ้านนี้เลี้ยงไก่ชนหลายตัว ถัดไปเป็นฝั่งตรงกันข้ามกับสมาคม ถ้าจำไม่ผิดในตอนนั้นเป็นโกดังของบริษัทพิธานพาณิชย์ แล้วก็เป็นลานหน้าศาลเจ้าแม่ฯ ติดกับลานเป็นบ้านไม้ 2 ชั้นของนายสุนนท์ ทับทิมทอง หรือลุงหล่ำเฮง พนักงานเทศบาล เวลามีพิธีลุยไฟข้าพเจ้าจะไปดูบนชั้นบนบ้านหลังนี้ตอนนั้นไม่มีอัฒจันทร์บังมองเห็นชัดมาก ถัดไปเป็นบ้านน้าเซี๊ยะ น้าฮวย น้าเซี๊ยะขับรถโรงน้ำแข็งวัฒนานิกร น้าฮวยจะขายข้าวยำ และขนมหวาน ข้าพเจ้าจำได้ว่าชอบไปซื้อกล้วยเชื่อมกินตอนหัวค่ำ ถัดไปเป็นบ้านนายอนันต์ วรุตตมะ หรือลุงโอ๋น บ้านลุงโอ๋นเป็น ฟาร์มเลี้ยงไก่ ลุงโอ๋นใช้รถลิตเติ้ลฮอนด้าส่งไข่ไก่ให้ร้านค้า รถลิต-เติ้ลฮอนด้านี้เป็นรถที่ทันสมัยมากในตอนนั้นเพราะเป็นรถลูกผสมระหว่างมอเตอร์ไซค์กับจักรยาน  มีสวิทช์ปรับเลือกได้ว่าจะใช้เป็นจักรยานหรือจะใช้เป็นมอเตอร์ไซค์   ติดกับบ้านลุงโอ๋นเป็นบ้านไม้ 2 ชั้น ผู้ที่อาศัยอยู่คือนายเต็งไฮ้ แซ่อุ่ย  นายเต็งไฮ้คั่วกาแฟขาย บ้านนี้เดิมเป็นบ้านของขุนด่านจ๊าบ แซ่เล่  ต้นตระกูลเลขะกุล ซึ่งเป็นตระกูลใหญ่อีกตระกูลหนึ่ง ย่าของภรรยาข้าพเจ้า คือย่ายี่เกียว พงษ์พานิช ก็มาจากสกุลเดิมเลขะกุลเช่นกัน ในบ้านจะมีป้ายบูชาและภาพถ่ายบรรพบุรุษของ เลขะกุล หลายคน ถัดไปเป็นบ้านทรงจีนจำไม่ได้ว่าใครอาศัยอยู่ ถัดไปเป็นร้านขายน้ำชาของน้าจั๊ว และเจ๊ลั้งมีลักษณะเป็นแผงลอย ถัดไปเป็นห้องแถวไม้ชั้นเดียวจำได้ว่าห้องมุมตัดกับถนนปะนาเระเป็น บ้านลุงพันธ์ พนักงานบริษัทธำรงวัฒนา
              

เดินข้ามถนนปะนาเระไปเป็นบ้านลุงจิ้นที่เล่าให้ฟังแล้ว หลังบ้านลุงจิ้นมีบ้านไม้ 2 ชั้น เจ้าของเป็นช่างเย็บเสื้อชื่อจี๊ตัน เป็นลูกสาวนายซุ่ยเฉี้ยง นาคพันธุ์ เป็นญาติกับคุณปู่สายเดียวกับป้าเอง   จี๊ตันขาพิการเดินกระเผลก ถัดจากบ้านลุงจิ้นเป็นบ้านห้อง แถว 2 ชั้นยกพื้นสูง 3 หลัง หลังแรกเป็นบ้านน้าผอม น้าผอมเป็นลูกจีนที่เข้านอกออกในบ้านคุณปู่ได้ตลอดเวลา น้าผอมขายน้ำแข็งใสรวมมิตร เด็กปัตตานีรู้จักน้าผอมกันทุกคน ถัดไปเป็นบ้านอาเจริญ สุวรรณมงคล กับน้าศรีสุมาลย์ น้าสุเป็นลูกสาวยายวไล หรือยายมล วัฒนายากรลูกพี่ลูกน้องกับคุณปู่ ถัดไปเป็นร้านขายของใช้ เบ็ดเตล็ดของคนจีน เจ้าของร้านมีลูกสาวชื่อยุพิน หนุ่มๆปัตตานีรู้จักกันทั่วเพราะ ยุพินเป็นนางงามปัตตานี ถัดจากห้องแถวนี้ไปเป็น บ้านไม้ 2 ชั้นของป้าซ่วนหลุย โกวิทยา เดิมบ้านนี้คุณหลวงสำเร็จกิจกรจางวาง(ปุ่ย แซ่ตัน)ต้นตระกูล คณานุรักษ์ซื้อให้ทวดเกี๊ยด ภรรยาคนที่ 4 และหลวงวิชิตศุลกากร(ตันจูอิ้น) บุตรชายคนสุดท้องของท่านเมื่อ ..2417 ป้าหลุยเป็นหลานตาของหลวงวิชิตฯ ป้าหลุยมีอาชีพทำขนมขาย ขนมที่ป้าหลุยขายเป็นขนมที่หากินยากในปัจจุบันนี้เช่นผีตายบาก ขนมหน้าหมู ขนมเกาะหลี ถัดจากบ้านป้าหลุย เป็นอาคารไม้ชั้นเดียวมีป้ายชื่อติดไว้ว่าธรรมศาลา 2469 เป็นบ้านเดิมของเถ้าแก่ต้วนเม่ง แซ่เล่า เถ้าแก่ต้วนเม่งเป็นบิดาของนายจ่ายฮก น้องเขยคุณปู่ทวดพระจีนฯ ภายในโรงธรรมมีบัวของนายจ่ายฮก ที่ฝาผนังมีภาพวาดนิทาน ชาดก และแผ่นหินอ่อนจารึกเรื่องราวของวงศ์ตระกูลเถ้าแก่ต้วนเม่ง ถัดไปเป็นบ้านไม่มีคนอยู่เดิมเป็นบ้านของนางโป้เอี้ยน แซ่เล่า ลูกสาวนายจ่ายฮกและนางจูกี่ ยายโป้เอี้ยนเป็นแม่ของนางโสภิต  วัฒนานิกร โรงน้ำแข็งวัฒนานิกร ติดกันเป็นที่ว่างมีต้นพุทราป่า ที่พวกเด็กๆชอบไปเก็บกินกัน นายจ่ายฮกนับเป็นโครงกระดูกในตู้ของตระกูลคณานุรักษ์ เพราะเป็นผู้ที่ทำให้เกิดเรื่องราวทะเลาะถึงขั้นตัดญาติขาดมิตรกัน เนื่องจากภายหลังนายจ่ายฮกไปได้นางลินเลี่ยง ธิดาหลวงสุนทรสิทธิโลหะ (ตันจูเม้ง) เป็นภรรยา นางจูกี่ภรรยาคนแรกของนายจ่ายฮกเป็นน้องสาวของหลวงสุนทรฯ ดังนั้นนางลินเลี่ยงและนางโป้เอี้ยนจึงมีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องกัน ภายหลังมีปัญหาทะเลาะกันระหว่างลูกเลี้ยงแม่เลี้ยง เป็นสาเหตุให้ตัดญาติกัน  สุดท้ายเป็นบ้านหัวมุมเป็นตึกจีน 2 ชั้น เป็นบ้านเดิมของแม่นายลาบู เจ้าของดั้งเดิมของเหมืองลาบู ในตอนนั้นผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้ชื่อ ลุงวาด หรือที่พวกเราเรียกว่า ลุงสวน เพราะแกเป็นคนสวนของอาสมพร วัฒนายากร แกดุมากจะคอยไล่ เด็กที่เข้าไปเล่นในสวนเสมอโดยไม่เคยสนใจว่าเป็นลูกหลานใคร   จากบ้านลุงวาดเดินข้ามถนนปัตตานีภิรมย์ ไปฝั่งตรงข้ามบ้านหัวมุมเป็นห้องแถวไม้ของอาศรีสุขสวัสดิ์ วัฒนายากร ลูกชายยายมล ติดกันทางซ้ายเป็นบ้านคุณตาดิเรก และคุณยายดวงเดือน คณานุรักษ์ เป็นบ้านทรงจีนชั้นครึ่ง ข้าพเจ้าชอบไปบ้านนี้มากเพราะคุณยายดวงเดือนซึ่งเป็นน้องคุณย่าเสริมสุขใจดีมากจะมีขนมนมเนยไว้เลี้ยงลูกหลานตลอดเวลา บ้านนี้เดิมเป็นบ้านของคุณทวดขุนพิทักษ์รายา(ตันบั่นซิ่ว) ลูกชายคนสุดท้องของ คุณปู่ทวดพระจีนฯ  คุณตาดิเรกเป็นลูกชายคุณทวดขุนพิทักษ์ฯ ถัดไปเป็นตึก 2 ชั้นอันทันสมัยของลุงมานพ และอามวล ลุงนพเป็นพี่ชายคนโตของพ่อ เดิมบ้านนี้เป็นบ้านคุณทวดขุนจำเริญภักดี(ตันบั่นฮก) พ่อของคุณปู่ ท่านเป็นลูกชายคนโตคุณปู่ทวดพระจีนฯ   ต่อมาตกทอดมาถึงลุงวิทยา หรือลุงเต็ก ลูกชายคนสุดท้องของคุณทวดขุนจำเริญฯ ลุงนพได้ซื้อต่อและรื้อบ้านเก่าที่เป็นทรงจีนสร้างใหม่เป็นตึกทันสมัย  ฝั่งตรงกันข้ามเยื้องกับบ้านลุงนพ เป็นบ้านเดิมของนายบุญเสี้ยน วัฒนานิกร ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทกับคุณปู่ทวดพระจีนฯ และนางยี่จ้อง แซ่ลั้วพี่สาวของนายบุญเสี้ยนก็เป็นภรรยาของนายจูเซียน น้องชายคุณพระจีนฯ  ในตอนนั้นผู้ที่อาศัยอยู่ที่บ้านหลังนี้คือยายเซ่งห้วย เป็นภรรยาของหลวงสกลการธานี(ซุ้ยจ้าย วัฒนานิกร) บุตรชายของนายบุญเสี้ยน คุณยายเซ่งห้วย เป็นมารดาของคุณมาโนช วัฒนานิกร หรือเถ้าแก่ซิ่ว ข้าพเจ้าจำท่านได้ดีเพราะท่านมักจะออกมานั่ง หน้าบ้านทุกวัน เมื่อท่านถึงแก่กรรมข้าพเจ้ายังไปช่วยงานศพท่าน 

ธรรมศาลา

บ้านหลวงวิชิตศุกลกากร(ตันจูอิ้น)
บ้านหลวงสุนทรสิทธิโลหะ(ตันจูเบ้ง)

บ้านทวดโป้เอี้ยน
อีกด้านของบ้านอาศรีสุข เป็นปลายถนนอาเนาะรูลงไปท่าน้ำแม่น้ำปัตตานี  จะมีชาวบ้านพายเรือรับจ้างมาคอยรับคนข้ามฟากไปฝั่งตรงข้ามคือโรงเรียนบ้านสะบารัง  ท่าน้ำนี้ในอดีตรัชกาลที่ 5 เคยเสด็จขึ้นจากเรือพระที่นั่งเพื่อประพาสตลาดจีน  อีกฟากของปลายถนนนี้เป็นโรงน้ำแข็ง วัฒนานิกร ของคุณมาโนช วัฒนานิกร หรือเถ้าแก่ซิ่ว ที่นี่เป็นเขตหวงห้ามของญาติพี่น้องข้าพเจ้า บางคนเพราะผู้ใหญ่โกรธกันทั้งๆที่ภรรยาเถ้าแก่ซิ่ว  คือนางโสภิต เป็นญาติสายนางจูกี่ ดังที่ข้าพเจ้าได้เล่าไว้ก่อนหน้านี้แล้ว แต่ข้าพเจ้าสามารถเข้าออกโรงน้ำแข็งได้เพราะหลานชายคนโตของเถ้าแก่ซิ่ว คือโจ้ หรือพีระพล เสรีกุล เป็นเพื่อนสนิทของข้าพเจ้า เรียนด้วยกันกินด้วยกัน อยู่ด้วยกันจนจบจากมหาวิทยาลัย จนข้าพเจ้าพลอยเรียกเถ้าแก่ซิ่ว และ คุณนายโสภิต ว่าคุณตา คุณยายไปด้วย ในตอนนั้นโรงน้ำแข็งจะเดินเครื่องตลอดเวลาถ้าวันใดเครื่องเสียแถวละแวกนั้นจะเงียบผิดปกติ 

จากโรงน้ำแข็งเดินข้ามถนนปัตตานีภิรมย์ ไปยังถนนอาเนาะรู ฝั่งทิศเหนืออีกครั้ง ตรงหัวมุมจะเป็นบ้านตึกทรงจีนดัดแปลง 2 ชั้นของคุณยายซุ่ยสิ้ม ปริชญากร พี่สาวคนโตของ คุณตาดิเรก ติดกันเป็นตึกจีนดัดแปลง 2 ชั้นเช่นกันของคุณยายลิ่วซิ้ม วงศ์วารี บ้านหลังนี้เป็นที่ประดิษฐานของพระกุนไท้กุนซึ่งเป็นพระประจำตัวของคุณปู่ทวดพระจีนฯ ชั้นบนของบ้านจะมีนกนางแอ่นมาทำรังเต็มไปหมด เวลาตอนเย็นจะมีนกบินว่อนอยู่หน้าบ้านก่อนเข้ารัง คุณยายลิ่วซิ้ม เป็นหลานยายของนางเม่งจู โกวิทยาพี่สาวคนโตของคุณปู่ทวดพระจีนฯ เดิม บ้าน 2 หลังนี้เป็นบ้านของนางเม่งจู เล่ากันว่าในสมัยทวดเม่งจูยังมีชีวิตหลังบ้านจะเป็นสวนดอกไม้นานาพันธุ์    บ้านคุณยายลิ่วซิ้ม มีชื่อเรียกว่าบ้านรังนก หรือบ้านครูราญ เพราะน้าสำราญ วงศ์วารีลูกชายคุณยายเคยเป็นครูมาก่อน ถัดจากบ้านรังนกเป็นบ้านจีนชั้นเดียวผู้ที่อาศัยอยู่คือน้าเหลี่ยน พนักงานบริษัทพิธานพาณิชย์ ติดกันเป็นบ้านจีนชั้นเดียวเช่นกันของนายนิคม ดาราพันธุ์ หรือแป๊ะแฉ้ แป๊ะแฉ้เป็นญาติทางย่าทวดเบ้งซ่วนภรรยาคุณปู่ทวดพระจีนฯเช่นกัน ปกติแป๊ะแฉ้จะถีบจักรยานตระเวนขายล๊อตเตอรี่  เวลาใครมีงานพิธีสงฆ์แป๊ะแฉ้ก็จะไปช่วยนำอาราธนาพระ นอกจากนี้ยังมีวิชารักษาต้อเนื้อโดยวิธีตัดต้อซึ่งเป็นวิชาไสยศาสตร์ ลูกสาวแป๊ะแฉ้คนหนึ่งชื่อจี๊สั้น พิการมีแขนลีบสั้น 1 ข้าง แต่มีความสามารถในการปักผ้ามาก คนส่วนใหญ่นิยมจ้างให้ปักเสื้อนักเรียน ถัดจากบ้านแป๊ะแฉ้เป็นบ้านไม้ 2 ชั้นของลุงหยัดกับป้าเหลี่ยน ลุงหยัดเป็นช่างซ่อมรถยนตร์ที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง ถัดไปเป็นห้องแถวไม้ของ น้าก๊วน น้ากาว มุ่งแสง  ทั้ง 2 คนเป็นโชเฟอร์ขับรถรับจ้าง    ถัดไปเป็นบ้านอาสมพร และ อาสุวรรณา วัฒนายากร เป็นบ้านที่มีบริเวณกว้างมาก ด้านข้างและด้านหลังเป็นสวน ในสวนหลังบ้านมีตึกจีน 2 ชั้น 1 หลัง เป็นบ้านของหลวงสุนทรสิทธิโลหะ(ตันจูเม้ง) พี่ชายคุณปู่ทวดพระจีนฯ เรียกกันว่าบ้านบน ภายหลังเป็นบ้านของคุณทวดเป้าเลี่ยง ลูกสาวหลวงสุนทรฯ ซึ่งเป็นแม่ของคุณย่า พ่อของข้าพเจ้าก็เติบโตที่บ้านนี้   ในตอนนั้นอาพรให้ป้าเฮื้องซึ่งเป็นคนเก่าแก่อาศัยอยู่ บ้านหลังนี้มีสิ่งที่ข้าพเจ้าแปลกใจมากเพราะบนหลังคามีตุ๊กตาปูนปั้นเป็นรูปคนขี่สิงห์  ซึ่งว่ากันว่าเอาไว้สำหรับแก้อาถรรพ์   ในสวนจะมีต้นละมุด หรือที่เราเรียกว่าลูกสวาที่มีรสชาดหวานมาก นอกจากนี้ยังมีผลไม้ประหลาดชนิดหนึ่งผลมีลักษณะคล้ายอวัยวะเพศของสุนัขตัวเมีย เรียกว่า ลูกหีหมา ลูกจะออกเต็มโคนต้น เวลาสุกจะมีรสหวานอมเปรี้ยว กลิ่นหอม ลูกหีหมา มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า ลูกอัมพวา  ลูกชายคนหนึ่งของอาพรและอาวรรณคือพี่ป้อง เป็นเพื่อนเล่นกับข้าพเจ้า ตั้งแต่เล็กจนโต จนปัจจุบันนก็ยังเป็นคู่หูกัน หลายครั้งหลายคราที่เราสองคนประกอบวีรกรรรมที่ไม่เป็นที่สบอารมณ์ของผู้ใหญ่ทั้งๆที่เราคิดว่าเราทำเพื่อรักษาศักดิ์ศรีของวงศ์ตระกูล

บ้านยายซุ่ยสิ้มและบ้านรังนก ซึ่งเดิมเป็นบ้านนางเบ้งจู
บ้านน้าเหลี่ยนและบ้านแป๊ะแฉ้
บ้านลุงหยัด
บ้านอาสมพร
ต่อไปเป็นบ้านหลังสุดท้ายอยู่ระหว่างสวนอาพร กับบ้านคุณปู่ เป็นบ้านทรงจีนชั้นเดียว เรียกว่า บ้านกงสี เป็นบ้านเดิมของหลวงสำเร็จกิจกรจางวาง(ปุ่ย แซ่ตัน) ต้นตระกูลคณานุรักษ์ เมื่อเข้าบ้านห้องโถงกลางจะมี แท่นบูชาบรรพบุรุษ โดยมีป้ายชื่อบรรพบุรุษเก็บไว้ในตู้ไม้แกะสลักแบบจีนที่สวยงามมาก เรียกว่า ถ้ำ    ห้องด้านซ้ายเป็นที่พักของทวดกุ้ยกี ท่านเป็นลูกสาวของคุณปู่ทวดพระจีนฯ   ข้าพเจ้าเรียกท่านว่าย่ากีตามพ่อ ท่านบวชเป็นแม่ชี  ท่านเลี้ยงชะนีไว้ 1 ตัว ชื่อ แง๊ว ดุมาก ย่ากีรักข้าพเจ้ามากถ้าข้าพเจ้าไปหาท่านๆจะเอากล้วยน้ำว้าที่ซื้อไว้เลี้ยงไอ้แง๊วให้ข้าพเจ้ากินเสมอ ย่ากีมีชีวประวัติที่น่าสนใจมาก ท่านเคยเป็นภรรยาพระยาประวัติสุจริตวงศ์(คอยู่ตี่ ณ ระนอง) เจ้าเมืองชุมพร ท่านหย่ากับสามีกลับมาอยู่ที่ปัตตานีเพราะสุนัขที่ท่านเลี้ยงไปกัดสามี แล้วสามีท่านยิงสุนัขตาย ท่านจึงโกรธมาก ย่ากีมีลูกชาย 1 คนชื่อ ตอม ไปเรียนวิชากฏหมายจากอังกฤษกลับมาได้ไม่นานก็ตายลือกันว่าถูกวางยาพิษ  ห้องด้านขวาของบ้านกงสีเป็นที่พักของครอบครัวลุงจำรูญ พี่ชายของพ่อเช่นกัน หลังบ้านกงสีเป็นสวน ในสวนมีจอมปลวกขนาดใหญ่ 
              
เป็นอันว่าข้าพเจ้าได้นำท่านย้อนยุคไปเยือนหัวตลาดเมื่อ 40 ปีที่แล้วเรียบร้อยแล้ว ท่านคง จะมองเห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปมากเมื่อเทียบกับสภาพปัจจุบัน บ้านเรือนหลายหลังถูกรื้อหรือ ซ่อมแซม ดัดแปลงจนกลายสภาพไปแล้ว บุคคลหลายท่านก็ล้มหายตายจากไปแล้ว บางคนก็ย้าย ถิ่นฐานออกไปจากหัวตลาด  แม้แต่ข้าพเจ้าเองปัจจุบันก็ไม่ได้อยู่ที่หัวตลาดแล้ว ……….หัวตลาดจึงเป็นเพียงความทรงจำของข้าพเจ้าเท่านั้น………
                                                                                                            ..ปานเทพ คณานุรักษ์
                                                                            
เรียบเรียงใหม่ วันที่ 10 สิงหาคม พ.. 2552

บ้านกงสี