วันเสาร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2559

เรื่องที่ ๑๕ เมื่อผมได้ทุนดูงานจาก JICA ตอนที่ ๓

บทความนี้ต่อจาก
เรื่องที่ ๑๓ เมื่อผมได้ทุนดูงานจาก JICA ตอนที่ ๑
เรื่องที่ ๑๔ เมื่อผมได้ทุนดูงานจาก JICA ตอนที่ ๒

หลังจากที่เดินทางถึง JICA Kyushu International Center ที่ Kitakyushu ในวันที่ ๒๖ พ.ค. ๒๕๕๖ ซึ่งเป็นอาทิตย์ วันหยุดราชการ รุ่งขึ้นเช้าวันจันทร์ ๒๗ พ.ค. เราก็เริ่มโปรแกรมกันอย่างเป็นทางการ โดยช่วงเช้าเป็นการแนะนำ JICA และชี้แจงวัตถุประสงค์ของการสัมมนาและโปรแกรมของแต่ละวัน เนื่องจากผมเป็นเด็กบ้านนอกไม่เคยได้รับทุนต่างประเทศมาก่อนจึงตื่นเต้นมากเพราะมีการจ่ายเงินสดให้จำนวนหนึ่งเป็นเบี้ยเลี้ยงตลอดการเข้าร่วมสัมมนา ซึ่งการจ่ายเงินเบี้ยเลี้ยงทาง JICA จ่ายโดยหลักการเดียวกับหน่วยงานผมเลยคือวันไหนมีการเลี้ยงอาหารก็หักค่าอาหารออกจากเบี้ยเลี้ยงตามจำนวนมื้อ นอกจากนี้เราต้องกรอกข้อมูลด้านสุขภาพเพื่อทำประกันสุขภาพสำหรับการเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุที่เกิดขึ้นระหว่างที่อยู่ในประเทศญี่ปุ่น และของสำคัญอีกอย่างคือเข็มกลัดสัญญลักษณ์ JICA ซึ่งเราต้องติดตลอดเวลาที่อยู่ในการดูแลของ JICA




เมื่อเสร็จจากการประชุมชี้แจง พวกเราก็ขึ้นรถบัสออกเดินทางจาก JICA Kyushu International Center ที่ Kitakyushu ไปยัง Oita ซึ่งใช้เวลาเดินทางประมาณ ๓ ชั่วโมง เราแวะกินอาหารเที่ยงระหว่างทาง โดยรถไปจอดให้ที่ศูนย์การค้าแห่งหนึ่ง แล้วให้ไปหากินเอาเองตามอัธยาศัย เพราะได้รับเบี้ยเลี้ยงไปแล้ว คณะจากประเทศอื่นๆเดินเขาไปที่ Food center แต่พวกเราหมอไทย ๔ คนเดินหาร้านที่ดูเข้าท่าตามประสาคนที่เรื่องกินเรื่องใหญ่และมีสตางค์(เบี้ยเลี้ยง)  มื้อนี้เราไม่กินราเมงเปลี่ยนไปกินพวกของทอดกันบ้าง ผมกินเป็นชุดเทมปุระ หลังจากนั้นเราก็ออกเดินทางต่อเพื่อไปยังจุดหมายคือ Oita

ถึงที่พักเอาข้าวของเก็บอาบน้ำอาบท่าเตรียมตัวเข้าร่วมพิธีเปิดอย่างเป็นทางการของ Seminar on Dialysis Technology in Japan พิธีเปิดจัดอย่างหรูหราและเป็นพิธีการมากตามแบบฉบับของญี่ปุ่น
พิธีเปิดเริ่มประมาณบ่าย ๒ โมง โดยมี Mr.Ichikawa ซึ่งเป็น Vice-President ของ JICA เป็นผู้กล่าวต้อนรับและกล่าวเปิด จากนั้นมีการกล่าวต้อนรับโดย Mr.Fukushima Deputy Director-General, International Cooperation Bureau, Ministry of Foreign Affairs คงเป็นแนวกองความร่วมมือระหว่างประเทศของกระทรวงการต่างประเทศอะไรทำนองนั้น ต่อด้วย Mr.Kakudo ซึ่งเป็น Director, Medical and Assistive Device Industries Office, Ministry of Economy, Trade and Industry และ Mr.Hirose, Governor Oita Prefecture.

เมื่อเสร็จพิธีการเปิดและกล่าวต้อนรับแล้วก็เข้าสู่ภาควิชาการ โดยเริ่มจากการนำเสนอในหัวข้อ The Eastern Kyushu Medical Valley Initiative โดย Mr.Nishiyama, Director, Commerce, Industry and Labor Department, Oita Prefecture
และการนำเสนอในหัวข้อ Present Situation of Dialysis in Japan โดย Dr.Tomo, Deputy Director, Oita University Hospital, Blood Purification Center
เมื่อจบการบรรยายหัวข้อนี้ก็เป็นการพัก ช่วงนี้ผมได้มีโอกาสพบ Mr.Shirokaze ซึ่งเป็นผู้ที่เคยไปฟังผมบรรยายสรุปเกี่ยวกับการบริหารจัดการงบกองทุนโรคไตที่ สปสช.เมื่อต้นปี ซึ่งก็เป็นไปตามธรรมเนียมญี่ปุ่นแกขอบคุณใหญ่เลยที่ผมต้อนรับแกอย่างดีและนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับ Eastern Kyushu Medical Valley จากการคุยกับผู้ที่มาร่วมพิธีเปิดในครั้งนี้อีกหลายๆคน ผมเลยถึงบางอ้อว่าทำไมผมถึงได้รับเชิญจาก JICA เพราะ Mr.Shirokaze ผู้นี้แกเป็นผู้บริหารระดับสูงของบริษัทเครือ Asahi Kasei ซึ่งเป็นนายทุนใหญ่ให้ Eastern Kyushu Medical Valley และ JICA นั่นเอง

ช่วงสุดท้ายของพิธีการในวันนี้หลังจากพักเป็นการนำเสนอในหัวข้อ Present Situation of Dialysis in the Participant's Country จากผู้เข้าร่วม ๘ ประเทศ ในส่วนของประเทศไทยเรามอบให้คุณหมอสกานต์เป็นผู้นำเสนอ





หลังจากพิธีเปิดและสิ้นสุดการนำเสนอของผู้เข้าร่วมจาก ๘ ประเทศแล้ว ประมาณ ๕ โมงครึ่งเกือบๆ ๖ โมงเย็นก็มีงานเลี้ยงต้อนรับ ซึ่งก็เป็นงานพิธีการอีกเช่นกัน มีการกำหนดว่าใครนั่งโต๊ะไหนตำแหน่งไหน เมื่อทุกคนเข้านั่งประจำที่แล้วฝ่ายเจ้าภาพก็จะทยอยกันลุกขึ้นมายื่นนามบัตรแนะนำตัวเราก็แลกนามบัตรกลับไป ที่ญี่ปุ่นนี่นามบัตรมีความสำคัญมากเจอกันครั้งแรกนี่ต้องรีบชักนามบัตรยิงใส่กันเลย
จากนั้นก็เป็นพิธีการเริ่มด้วยการกล่าวต้อนรับจากเจ้าของบ้านคือ Mr.Hirose, Governor of Oita Prefecture ซึ่งเป็นผู้ที่มีอารมณ์ดี ต่อด้วยการนำดื่มอวยพรให้ผู้เข้าร่วมการสัมมนาโดย Mr.Kitano, President of Oita University และการกล่าวขอบคุณจากผู้แทนผู้เข้าร่วมสัมมนาจาก ๘ ประเทศ ซึ่งคราวนี้เป็นหน้าที่ของคุณหมอจิโรจ เมื่อเสร็จพิธีการก็มีการเสิร์ฟอาหาร ระหว่างนั้นก็มีการแสดงฟ้อนรำแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นที่มีบรรดาคุณป้าออกมาร่ายรำอย่างสวยงาม
บนโต๊ะอาหารบรรยากาศเต็มไปด้วยไมตรีจิตร พูดคุยกันอย่างสนุกสนาน จิบเหล้าสาเกกันอย่างสนุกสนาน ผมโชคดีที่ได้รับการจัดให้ร่วมโต๊ะกับ Mr.Hirose และ Mr.Ichikawa ผมบอก Mr.Hirose ไปว่าเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๓ ผมเคยเดินทางมาที่ Beppu ซึ่งเป็นเมืองหนึ่งของ Oita Prefecture และชอบออนเซ็นมาก แกชอบใจใหญ่ลุกขึ้นยืน แกะเข็มกลัดที่เสื้อนอกแกมากลัดให้ผม เป็นเข็มกลัดรูปบ่อน้ำร้อนสัญญลักษณ์ของ Oita ซึ่งเป็นดินแดนของออนเซ็นที่มีชื่อที่สุด ผมเลยแซวไปว่าผมติดเข็มกลัดนี้แล้วสามารถไปออนเซ็นได้ฟรีทุกแห่งใน Oita หรือเปล่า เลยเฮกันทั้งโต๊ะ
งานเลี้ยงต้อนรับเลิกประมาณ ๓ ทุ่ม ก่อนงานเลิกสักครึ่งชั่วโมงก็เป็นช่วงที่เราลุกจากโต๊ะไปทักทายโต๊ะอื่นๆกัน

Mr.HiroSe, Governor of Oita Prefecture

Mr.Kitano, President of Oita University





Mr.Ichikawa, Vice-President JICA

เข็มกลัด JICA และ Oita Prefecture

วันพฤหัสบดีที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2559

เรื่องที่ ๑๔ เมื่อผมได้ทุนดูงานจาก JICA ตอนที่ ๒


ความเดิมต่อเนื่องจากตอนที่ ๑ เรื่องที่ ๑๓ เมื่อผมได้ทุนดูงานจาก JICA ตอนที่ ๑

ในที่สุดผมก็ได้นั่งเครื่องบินชั้น Business class ของ JAL จากสนามบินสุวรรณภูมิไปยังสนามบิน Narita ประเทศญี่ปุ่น เราไปถึง Narita อย่างปลอดภัยประมาณ ๗ โมงครึ่งตามเวลาท้องถิ่น รอเอากระเป๋าเสร็จเรียบร้อยประมาณ ๘ โมง ต้องรีบออกไปผ่านกระบวนการตรวจคนเข้าเมือง เพราะเราต้องขึ้นเครื่องต่อไป Fukuoka เที่ยวบินเวลา ๐๙.๔๕ น.
เมื่อออกมาถึง ต.ม.ตกใจเลยครับเพราะแถวยาวมาก ดูแล้วเราไม่น่าจะไปขึ้นเครื่องทันเวลา จึงแจ้งกับเจ้าหน้าที่ ต.ม.ที่ยืนกำกับแถวอยู่ว่าเราจะต้องรีบไปขึ้นเครื่องต่อไป Fukuoka เวลา ๐๙.๔๕ น. เราเป็นแขกของ JICA พร้อมกับเอาหนังสือเชิญภาษาญี่ปุ่นให้ดู เขารีบพาเรา ๔ คนลัดคิวไปช่องทางด่วน เราเลยรู้ว่าในเที่ยวบินจากสุวรรณภูมิมีคณะจากประเทศอื่นมาพร้อมกับเรา ทุกคนบินจากประเทศตนเองมาต่อเครื่อง JAL ที่สุวรรณภูมิ คณะอื่นๆเลยพลอยใบบุญเรามาทางลัดผ่าน ต.ม. ใช้เวลาแสกนนิ้วแป๊บเดียว ไม่ถามออะไรมากเพราะมีบัตรเบ่งจาก JICA เราเลยไป check in เครื่อง ANA All Nippon Airways ได้ทันเวลา

เมื่อถึงสนามบิน Fukuoka มีเจ้าหน้าที่ของ JICA มายืนถือป้ายรอรับ พอคณะเราพร้อมแกก็พาเดินลากกระเป๋าไปขึ้นรถมินิบัสที่แกเป็นพนักงานขับรถเอง ที่ตลกคือเราออกมาเที่ยงกว่าแกไม่พูดถึงเรื่องกินอาหารเลย เราก็คิดว่าคงใช้เวลาเดินทางจากสนามบินไปที่พักไม่นานมาก เอาเข้าจริงเราใช้เวลาเดินทางจากสนามบิน Fukuoka ไปยัง JICA Kyushu International Center ที่ Kitakyushu ประมาณ ๑ ชั่วโมงนิดๆ
JICA Kyushu International Center ที่ Kitakyushu นี่ถือเป็น campus ใหญ่ มีที่พัก สถานที่ฝึกอบรม โรงพยาบาลอยู่ในพื้นที่เดียวกัน

เมื่อถึงที่หอพักมีเลซองเป็นผู้หญิง ๒ คนมาต้อนรับ แจก JICA Pass card ซึ่งเป็นบัตรที่เราต้องแขวนตลอดเวลาที่อยู่ที่ JICA Kyushu International Center และใช้เป็นคีย์การ์ดห้องพักให้เราเอาข้าวของไปเก็บแล้วลงมาพบกัน
เราลงมาแกก็ตั้งท่าจะอธิบายอะไรให้ฟัง พวกเราเลยบอกว่ายังไม่ได้กินข้าวเที่ยงเลย แกเลยพาไปที่ cafeteria ซึ่งอีก ๑๕ นาทีจะปิด เราต้องไปเรียนรู้การสั่งอาหารด้วยระบบกดเมนูที่ตู้แล้วจ่ายเงินกับตู้ได้บัตรคิว ไปรอรับอาหาร มื้อนั้นสั่งมั่วๆไปแต่อร่อยมากเพราะหิว และโชคดีที่แลกเงินเยนติดตัวไปบ้างแล้ว
หลังจากอิ่มหมีพีมัน เราก็ออกมาฟังเลซองบรรยายวิธีปฏิบัติตัวในการพักที่หอพัก และแจ้งโปรแกรมของวันรุ่งขึ้นว่าจะต้องทำอะไรกันบ้าง ก่อนจะแยกย้ายกันไปอาบน้ำพักผ่อนตามอัธยาศัย เพราะเหนื่อยกับการเดินทางไกล



หอพักของ JICA Kyushu International Center ที่ Kitakyushu








JICA Pass Card

อาหารมื้อแรก หิวจนลืมถ่ายรูป





อิ่มแล้วมานั่งฟังเลซองบรรยาย

เย็นนั้นพวกเราหมอไทย ๔ คนนัดไปกินมื้อเย็นด้วยกัน ตั้งใจว่าจะไปหาพวกราเมงอร่อยๆกินกัน เจอน้องวิศวกรคนไทยจากหน่วยงานรัฐแห่งหนึ่งที่รับทุน JICA มาฝึกงาน ๑ ปี น้องเลยพาเดินไปใกล้ๆที่พัก เป็นร้านขายราเมงร้านเล็กๆแต่จัดร้านได้สวยงาม เข้าไปในร้านจึงพว่าเป็นร้านแบบครอบครัวมีป้าอายุประมาณ ๗๐ กว่าปีอยู่ในชุดยูกาตะคอยต้อนรับ มีสามีในวัยเดียวกันเป็นคนปรุงราเมงตามสั่ง ทั้ง ๒ คนพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย เห็นเมนูแล้วสั่งไม่ถูกเลยเพราะเป็นภาษาญี่ปุ่นทั้งนั้น ป้าแกเห็นเราเป็นคนต่างชาติก็เลยเดินไปหยิบเมนูที่เป็นรูปภาพมาให้พวกเราเลือก จะเป็นชุดคือมีราเมงและอย่างอื่นประกอบด้วย เมื่อชุดที่แต่ละคนสั่งมาถึง ด้วยความมีไมตรีจิตรเต็มไปด้วย service mind ป้าแกจะยืนดูว่าเรากินเป็นหรือเปล่า พอเห็นเราเก้ๆกังๆแกรีบกุลีกุจอมาแนะนำด้วยการชี้ให้เราหยิบโน่นไปปรุง หยิบนั่นไปผสมกับไอ้นี่ด้วยสีหน้านิ้มแย้มตลอดเวลา เรื่องรสชาตินี่ไม่ต้องพูดถึงเลย ผมว่าอร่อยกว่าราเมนร้านดัง ๒-๓ เจ้าในบ้านเราเยอะเลย สำหรับราคาแต่ละชุดก็ตกประมาณ ๓๐๐-๔๐๐ บาท หลังจากกินอิ่มก็เดินย่อยอาหารรอบๆที่พักซึ่งสงบเงียบมาก แทบจะไม่มีรถยนต์เลย เดินสักพักก็กลับเข้าห้องพักกัน ในห้องพักก็เหมือนหอพักนักศึกษาทั่วไปห้องไม่ใหญ่แต่มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกครบครัน ไม่มี wifi แต่มีสาย LAN ให้ใช้อินเตอร์เน็ตได้ฟรี ผมมีโน๊ตบุ๊คติดไปด้วยเลยสบาย คนที่ใช้สมาร์ทโฟนแย่หน่อย คืนนั้นหลับสบายเพราะอ่อนล้ามาจากการเดินทาง




บรรยากาศภายในร้านราเมง
อุปกรณ์และเมนูมาตรฐานบนโต๊ะ
เมนูภาพสำหรับชาวต่างชาติ

ชุดที่ผมสั่งหน้าตาสวยและอร่อย



ภายในห้องพัก

วันจันทร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2559

เรื่องที่ ๑๓ เมื่อผมได้ทุนดูงานจาก JICA ตอนที่ ๑

ชีวิตนี้ผมไม่เคยคิดไม่เคยฝันว่าจะได้รับทุนไปต่างประเทศเหมือนคนอื่น เพราะไม่เคยเข้าคอร์สกวดวิชาภาษาอังกฤษแล้วไปสอบเหมือนคนอื่น
แต่เหมือนโชควาสนาจะกำหนดไว้ว่าครั้งหนึ่งในชีวิตผมต้องไปต่างประเทศด้วยทุนอะไรสักอย่าง

ช่วงเดือนมกราคม ๒๕๕๖ มีการติดต่อมาจากสำนักงานองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น หรือที่รู้จักกันในชื่อว่าไจก้า JICA ว่าจะมีคณะจากญี่ปุ่นมาขอดูงานเรื่องการบริหารจัดการกองทุนโรคไตว่าสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) บริหารจัดการเรื่องนี้อย่างไรผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าถึงได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง
ปกติการมีคณะดูงานจากต่างประเทศแบบนี้เลขาธิการ สปสช. จะเป็นผู้ทำหน้าที่ต้อนรับเอง หรือไม่ก็มอบหมายให้รองเลขาธิการฯที่รับผิดชอบเรื่องนี้เป็นผู้แทน
แต่ครั้งนี้เลขาธิการฯ แทงหนังสือมอบให้รองเลขาธิการฯ รองเลขาธิการฯก็แทงต่อว่าไม่ว่างมอบที่ปรึกษาอาวุโส ที่ปรึกษาอาวุโสก็โทรศัพท์หาผมบอกว่าไม่เคยรู้เรื่องการบริหารกองทุนโรคไตมอบหมายให้ผู้อำนวยการจัดการไปเองแบบเบ็ดเสร็จก็แล้วกัน

เมื่อคณะเดินทางมาถึงผมในฐานะผู้จัดการแผนงานสนับสนุนระบบบริการโรคไตวายในขณะนั้นจึงต้องทำหน้าที่รับหน้าเสื่อต้อนรับคณะที่มาดูงานและบรรยายสรุป คณะที่มาในวันนั้นเป็นคณะเล็กๆภายใต้การนำของเลขานุการสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย และชาวญี่ปุ่นอีก ๒-๓ คน หนึ่งในนั้นคือ Mr.Shirokaze จาก Asahi Kasei Corporation ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าบริษัทนี้ทำเกี่ยวกับอะไร แต่หลังจากผมบรรยายสรุปวันนั้นคนที่ซักถามมากที่สุดคือนายคนนี้ และแกได้พูดถึงเทคโนโลยีใหม่ๆในญี่ปุ่นเกี่ยวกับเครื่องผลิตน้ำสำหรับใช้กับเครื่องไตเทียม และการผลิตบุคลากรที่เรียกว่า clinical engineering ซึ่งเป็นเหมือนคนที่ดูแลเครื่องมือต่างๆทางการแพทย์ แต่สามารถเจาะเลือดผู้ป่วย แทงเข็มเพื่อให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ หลังจากนั้นก็ร่ำลากันไป เจ้าหน้าที่ผมบอกว่าวันนี้ ผ.อ.นำเสนอและตอบข้อซักถามเป็นภาษาอังกฤษได้เยี่ยมโดยดูจากสีหน้าของคณะที่มา

จนถึงเดือนเมษายน ๒๕๕๖ ผมได้รับโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่ของ JICA ประจำประเทศไทยว่าทาง JICA ที่ญี่ปุ่นต้องการให้ผมเขียนใบสมัครเพื่อเข้าร่วมสัมมนาเรื่อง Seminar on Dialysis Technology in Japan ที่ประเทศญี่ปุ่น และส่งใบสมัครมาให้ทางอีเมล์
ผมยังงงๆว่าทำไมเขาถึงระบุตัวผม เพราะปกติเวลามีทุนอะไรมามักจะมาถึงสำนักงานแล้วสำนักงานจะเป็นผู้พิจารณาเองว่าให้ใครไป(ซึ่งไม่เคยถึงผมสักที ฮิๆๆ) ผมต้องนั่งกรอกใบสมัครประมาณ ๑๐ หน้า ที่มีลักษณะเหมือนการเขียนรายงานการปฏิบัติงานเป็นภาษาอังกฤษว่าผมมีประวัติความเป็นมาอย่างไรทั้งการศึกษาและการทำงานในอดีตจนถึงปัจจุบัน ภารกิจของ สปสช.คืออะไร และหน่วยงานที่ผมรับผิดชอบมีหน้าที่อะไรบ้าง ปัญหาและอุปสรรคของการทำงานนี้มีอะไรบ้างคิดว่าจะแก้ไขได้อย่างไร และสุดท้ายคือคิดว่าจากการไปเข้าร่วมสัมมนาครั้งนี้จะได้อะไรที่เป็นประโยชน์กลับมาใช้กับภารกิจที่รับผิดชอบ
หัวข้อไม่กี่หัวข้อแต่เด็กบ้านนอกจบเรียนโรงเรียนบ้านสะบารังแบบผมนี่นับว่ายากเอาเรื่องเลย นั่งใช้เวลา ๒ วันจึงเขียนเสร็จ ส่งใบสมัครกลับไปให้ทาง JICA ญี่ปุ่น ก็ต้องลุ้นระทึกอีกครั้งตอนที่ต้องให้ผู้บังคับบัญชาลงนาม ไม่รู้จะอนุญาตหรือเปล่าเพราะเป็นอะไรที่ไม่เหมือนปกติ เจ้าของทุนระบุตัวมาเลยว่าต้องเป็นผม เลขาธิการฯก็คุยกับรองเลขาธิการฯว่าจะเอาอย่างไรดี โชคดีที่เจ้านายเข้าใจเลยอนุญาต
หลังจากนั้นไม่นานทาง JICA ก็มีหนังสือตอบรับให้ผมเข้าร่วมสัมมนาดังกล่าวในช่วงเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๖

การติดต่อกับ JICA ทั้งญี่ปุ่นและไทยใช้อีเมล์ตลอด ไม่เคยต้องไปติดต่อที่สำนักงาน JICA ประเทศไทยเลย ทาง JICA ส่ง Training and Dialogue Program ซึ่งเป็นรายละเอียดของการสัมมนาว่ามีวัตถุประสงค์อะไรบ้าง ผู้เข้าร่วมสัมมนาต้องเตรียมอะไรบ้าง และโปรแกรมของแต่ละวันว่าทำอะไร พักที่ไหน ผู้ประสานงานที่ญี่ปุ่น และข้อมูลของเกาะ Kyushu และ Eastern Kyushu Medical Valley ตลอดจนข้อมูลของ JICA และหนังสือเชิญเป็นภาษาญี่ปุ่นสำหรับแสดงกับเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของญี่ปุ่น พร้อมกับให้เรากรอกข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพ พร้อมกับขนาดตัวส่งกลับไปให้เขา

จากข้อมูลที่ส่งมาจึงได้รู้ว่าการไปสัมมนาครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมจาก ๘ ประเทศ คือไทย เวียดนาม พม่า อินเดีย อินโดนิเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอัฟริกาใต้ ล้วนแล้วแต่เป็นประเทศกำลังพัฒนาทั้งนั้น คิดในใจดังๆว่าคราวนี้เราคงได้คุยกับเพื่อนจนเมื่อยมือเลย

จนใกล้ถึงกำหนด ทาง JICA ส่ง e-ticket มาให้เป็นของสายการบิน JAL สายการบินประจำชาติของญี่ปุ่น เป็นตั๋ว ๔ เที่ยวบินด้วยกันคือจากสุวรรณภูมิไป Narita และตั๋วภายในประเทศจาก Narita ไป Fukuoka และขากลับภายในประเทศจาก Miyazaki ไป Haneda และจาก Haneda ไปสุวรรณภูมิ พร้อมกับบอกว่าเมื่อถึง Narita จะมีเจ้าหน้าที่ JICA ถือป้ายมารอรับ และมีรายชื่อผู้เข้าร่วมสัมมนาจากประเทศไทย ๔ คน คือนอกจากผมแล้วยังมีคุณหมอจิโรจ สินธวานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์, คุณหมอสกานต์ บุนนาค หมอโรคไตจาก รพ.ราชวิถี และคุณหมอไกรวิพร เกียรติสุนทร หมอโรคไตจากศิริราช ค่อยใจชื้นขึ้นมาหน่อยว่าอย่างน้อยมีเพื่อนคนไทย

จนถึงวันเดินทาง วันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๖ ผมก็เป็นกะเหรี่ยงลากกระเป๋าเดินทางใบใหญ่ ๑ ใบ สะพายกระเป๋าโน๊ตบุ๊คและของใช้ที่จำเป็นและเสื้อผ้าสำรอง ๑ ชุดไปที่สนามบินสุวรรณภูมิ check in ที่เคาน์เตอร์ของสายการบิน JAL เมื่อผ่านกระบวนการเรียบร้อยเจ้าหน้าที่ให้บัตร ๑ ใบบอกว่าผ่าน ต.ม.แล้วเชิญไปนั่งที่ Sakura JAL Lounge  ผมถึงได้รู้ว่าได้นั่ง Business class เป็นบุญก้นจริงๆ หยิบ e-ticket ที่ JICA ส่งให้ถึงได้รู้ว่าเขาบอกไว้ว่า Business class แต่ผมอ่านข้ามไปเอง ดูราคาค่าตั๋วไป-กลับ ๔ เที่ยวบินรวมกันปาเข้าไป ๘๗,๕๐๐ บาท นี่ถ้าให้จ่ายเองคงแย่เลย เลยรีบไปผ่านกระบวนการออกนอกประเทศของ ต.ม.ซึ่งไม่ยุ่งยากเพราะใช้หนังสือเดินทางราชการ แล้วไปนั่งเต๊ะจุ๊ยใน Sakura JAL Lounge ที่ไม่รู้ว่าชีวิตนี้จะมีโอกาสได้เข้าไปนั่งอีกเมื่อไหร่

...เดี๋ยวไปต่อตอนที่ ๒ กันนะครับ...


หนังสือเชิญจาก JICA เป็นภาษาญี่ปุ่น สำหรับแสดงกับ ต.ม.ญี่ปุ่น

กะเหรี่ยงนั่งรอใน Sakura JAL Lounge

เป็นครั้งแรกที่ได้สัมผัส Business class

มีอะไรก็ไม่รู้เยอะแยะไปหมดให้ผู้โดยสารใช้ระหว่างเดินทาง

นอนสบายไปเลย

วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2559

เรื่องที่ ๑๒ เรื่องโง่ๆของผม

ขอแทรกเรื่องราวตระกูลด้วยเรื่องส่วนตัวของผม ที่ผมเขียนไว้เมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๕๗

ดูข่าวนักชกสาวชาวอินตะระเดียเอาเหรียญทองแดงไปคล้องคอนักชกโสมขาวที่เอาชนะตนเองไปแบบค้านสายตาคนทั่วโลก
ทำให้ผมคิดถึงเรื่องราวของผมเมื่อครั้งอดีต ที่หลายคนบอกว่าผมโง่

หลังจากที่ผมทำงานที่ รพ.บ้านโป่ง ราชบุรี นาน ๘ ปีผมก็ลาออกไปทำงานที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)ปกติเป็น ธรรมเนียมของ รพ.บ้านโป่ง เมื่อมีหมอคนไหนย้ายหรือลาออก จะมีการซื้อทองให้ ๑ บาท โดยใช้เงินที่องค์กรแพทย์เก็บจากหมอทุกคนเข้าเป็นกองกลางเพื่อทำกิจกรรม ต่างๆ
แต่ผมเป็นแกะดำขององค์กรแพทย์ รพ.บ้านโป่ง การที่ตัดสินใจลาออกจากราชการเหตุผลสำคัญก็มาจากการดำเนินชีวิตสวนทางกับสมาชิกองค์กรแพทย์
ผมเลยประกาศชัดเจนว่าผมลาออกจาก รพ.บ้านโป่ง องค์กรแพทย์ไม่ต้องเลี้ยง ไม่ต้องซื้อของให้ เพราะถึงจัดเลี้ยงส่งผมก็ไม่ไป และไม่รับของ
มีคนหาว่าผมโง่ ไม่รู้จักใช้สิทธิ เพราะเงินส่วนหนึ่งขององค์กรแพทย์ก็เป็นเงินที่เก็บไปจากค่าจ้างแรงงานของผม ผมก็ตอบไปว่าผมได้ของขวัญชิ้นใหญ่แล้วคือได้ออกจาก รพ.บ้านโป่ง ไปมีงานใหม่ทำที่ไม่ด้อยไปกว่าเดิม

ผมไม่รู้เหมือนกันว่าองค์กรแพทย์เขาจัดเลี้ยงส่งผม โดยไม่มีผมในงานหรือเปล่า ฮิๆๆ

แต่ถึงผมจะประกาศไปแบบนั้น เอาเข้าจริงผมก็ต้องตระเวนไปงานเลี้ยงส่งอยู่ดี เพราะตอนที่ผมลาออกนั้นผมลาออกพร้อมกับ นพ.ฉัตร กิติบวร สาธารณสุขนิเทศเขต ๔
นพ.นรา นาควัฒนานุกูล หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดเลี้ยงส่งพี่ฉัตรในนามของเขตตรวจราชการที่ ๔ เลยพ่วงผมไปด้วยเพราะเป็นน้องเล็กของผู้บริหารทั้งนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ของ ๘ จังหวัดภาคกลางตอนล่างและภาคตะวันตกในขณะนั้น
นอกจากนั้น นพ.พิชาติ ดลเฉลิมยุทธนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านโป่ง ที่เป็นคู่หูเล่นกอล์ฟกับผมทุกสัปดาห์ (และครั้งหนึ่งผิดใจกันถึงขั้นไม่พูดกัน แต่ก็ไปเดินเล่นด้วยกัน ๒ คนโดยไม่พูดกันแม้แต่คำเดียว) ยังได้กรุณาจัดงานเลี้ยงส่ง โดยเชิญแต่หมอและพยาบาลที่ซี้ๆกันในกลุ่มเฮฮาปาร์ตี้ไม่กี่คนไปกินข้าว ร้องรำทำเพลง

ผมมานั่งคิดย้อนหลังไป ทำไมวันนั้นผมไม่รับทองขององค์กรแพทย์แล้วเอาไปขายเอาเงินไปทำประโยชน์อย่างอื่น กลับเพิกเฉยต่อทอง ๑ บาท ผมโง่จริงๆหรือเปล่า ใครช่วยผมตอบที เผื่อมันมีประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ผมจะได้ตัดสินใจถูกว่าควรทำอย่างไร

เรื่องที่ ๑๑ สัญญาภาษาอังกฤษของบรรพบุรุษ

มีสัญญาฉบับหนึ่งน่าสนใจมาก
เจออยู่ในสมุดบันทึกส่วนตัวของคุณพระจีนคณานุรักษ์
สมุดบันทึกเล่มนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของโป่หนู เป็กแฉ้(คณานุรักษ์) กุลโชติ
ผมได้ถ่ายสำเนาเก็บไว้ เวลาว่างก็เอามาเปิดอ่าน
ส่วนใหญ่เป็นตำราโหราศาสตร์, คาถาไสยศาสตร์ และตำรายาจีน
มีอยู่หน้าหนึ่งเป็นลายมือเขียนภาษาอังกฤษ
ผมขอคัดลอกมาให้อ่าน
แต่ด้วยความด้อยปัญญาในภาษาอังกฤษ
ชีวิตนี้ไม่เคยไปเรียนเมืองนอกเมืองนา
เลยอ่านแล้วไม่ค่อยจะรู้เรื่อง
ใครอ่านแล้วรู้เรื่อง ช่วยแปลให้ด้วยครับเจ้านายยยยยยย!!!

.........................................................................

Agreement entered into this day the 26th of December 1876. Between the Galena Mining Company Limited, Jalor and Raman on the one part and Tan Choo Beng on the other part.
That Tan Choo Beng hereby agrees to work the various mines or workings of the company and any other places of which he may be aware in Gua Tumbus and sell to the above named Company whatever Galena Ores may be obtained therefrom.
For which the Company agrees to pay the said Tan Choo Beng at the rate of $2.25 per picul for ores which will when smelted return from 55 % to 60 % and at the rate of $1.50 per picul for ores which when smelted will return 40 % ores of different per Centages to the above mentioned will be paid for according to value.
The Company will in the first instance supply Bores and Hammers which Tan Choo Beng must keep up and be responsible for also ore bag for the conveyance of the ore.
In cases of Sinking Shafts or Draining Levels such working must be properly carried on by being made safe and secure to the satisfaction of the Company’s Manager at the time being or any substitude he may appoint.
All ores to be conveyed from Gua Tambus to alongside the Companys road at Tan Choo Beng’s cost and risk after which the Company will take charge of it.
All ores to be weighed at the Company smelting shed and stand 106 Catties same as Patani Picul.
Powder will be supplied by the Company at the rate of $16 per keg, Fuse at 20 Cents per Coil. Dynamite $5.00 per packet and Detonators at $2.00 per tin.
Ore to be paid by cheque payable in Singapore.
This agreement to last for 20 years.

...............................................................................

คำแปล แบบชาวบ้าน

สัญญาฉบับนี้ทำขึ้นเมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๑๙ 
ระหว่างบริษัทกาลีน่าไมนิ่งจำกัด ยะลาและรามัน ฝ่ายหนึ่ง และ ตันจูเบ้ง อีกฝ่ายหนึ่ง
ซึ่ง ตันจูเบ้ง ในที่นี้ตกลงที่จะทำการขายแร่ตะกั่วทั้งหลายที่ขุดได้จากเหมืองต่างๆ 
ตลอดจนที่ได้จากบริษัทต่างๆ หรือในสถานที่ต่างๆในตำบลถ้ำทะลุซึ่งอยู่ในความดูแลของตันจูเบ้งทั้งหมด
ให้กับบริษัทที่เอ่ยนามข้างต้น
ทางบริษัทจะจ่ายเงินให้ตันจูเบ้งในอัตรา ๒.๒๕ เหรียญต่อหาบ สำหรับแร่ที่ถลุงได้เนื้อแร่ ๕๕ – ๖๐% 
และในอัตรา ๑.๕๐ เหรียญต่อหาบ สำหรับแร่ที่ถลุงได้เนื้อแร่ ๔๐% 
สำหรับแร่ที่ถลุงได้ในอัตราเปอร์เซนต์ที่ต่างจากข้างบนจะจ่ายให้ตามมูลค่า
ในเบื้องต้นบริษัทจะสนับสนุนกระบอกสูบและสากตำแร่ให้ โดยทางตันจูเบ้งจะต้องดูแลรักษา 
และรับผิดชอบกระสอบบรรจุแร่ และการขนส่งแร่ 
ทั้งนี้ระดับของเพลาขุดเจาะ และการขนถ่ายแร่ต้องกระทำด้วยความปลอดภัยมั่นคง
ตามความพึงพอใจของผู้จัดการบริษัทในเวลานั้นหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย
ตันจูเบ้งจะต้องรับผิดชอบค่าขนส่งแร่ทั้งหมดที่ขนจากตำบลถ้ำทะลุไปยังบริษัท ตลอดจนความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น
แร่ทั้งหมดจะถูกนำไปชั่งน้ำหนักที่โรงถลุงแร่ของบริษัท 
โดยกำหนดให้ ๑๐๖ ชั่งจีน เท่ากับ ๑ หาบของปัตตานี
บริษัทจะจำหน่ายดินปืนให้ในราคา ๑๖ เหรียญต่อถัง ชนวนระเบิดราคา ๒๐ เซนต์ต่อม้วน 
ไดนาไมท์ราคา ๕ เหรียญต่อหีบ และเชื้อประทุราคา ๒ เหรียญต่อกระป๋อง
เงินค่าแร่จะจ่ายเป็นเช็คสั่งจ่ายในสิงคโปร์
สัญญาฉบับนี้มีผลบังคับใช้เป็นเวลา ๒๐ ปี

...............................................................................

จากสัญญาฉบับนี้บอกให้รู้ว่าสมัยนั้นผู้ที่มีอำนาจของตระกูลคือ ตันจูเบ้ง หรือหลวงสุนทรสิทธิโลหะ ซึ่งในบทความของ William Cameron เรื่อง On The Pattani ซึ่งตีพิมพ์ใน Journal Of The Singapore Branch Royal Asiatic Social ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๒๖ เรียกท่านว่า Tan Chew Beng, Datoh of the mines ผู้ที่คุมอำนาจเกี่ยวกับเหมืองแร่ในพื้นที่ถ้ำทะลุทั้งหมด

นอกจากนี้ยังทำให้รู้ว่าในสมัยนั้นแร่ดีบุกเรียกว่า galena ซึ่งหมายถึงตะกั่ว และกระบวนการทำเหมืองที่ถ้ำทะลุในสมัยนั้นต้องใช้การระเบิดหินเพื่อหาสายแร่ จึงมีการซื้อขายแร่แลกกับดินปืนและชนวนระเบิด เป็นแบบ barter trade ในปัจจุบันที่แลกขายสินค้ากัน
และมีการร่วมลงทุนโดยบริษัทต่างชาติลงทุนเครื่องมือ แต่ทางเรารับผิดชอบกระบวนการขุดและขนส่ง
บรรพบุรุษเราทันสมัยไม่เบาเลยนะครับที่กล้าทำสัญญาแบบนี้กับฝรั่งต่างชาติ


หลวงสุนทรสิทธิโลหะ(ตันจูเบ้ง) กับชาวต่างชาติ

วันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2559

เรื่องที่ ๑๐ ประวัติ "วัฒนายากร"

วัฒนายากร

ย่าผมมาจากสกุลวัฒนายากร ถ้านับลำดับชั้นของสายสกุลวัฒนายากรในเมืองไทย ย่าเป็นชั้นที่ ๓ ผมจึงเป็นชั้นที่ ๕
แต่พบว่ามีข้อมูลของสกุลวัฒนายากรที่ถ่ายทอดมายังลูกหลานน้อยมาก ผมจึงพยายามค้นคว้าหาข้อมูลจากทุกแหล่งที่สามารถเก็บเกี่ยวให้เป็นประโยชน์แล้วนำมาเรียงต่อเป็นจิ๊กซอว์ จนในที่สุดผมก็ได้อะไรที่เป็นรูปเป็นร่างชัดเจนขึ้นระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่อาจพูดได้เต็มปากว่านี่คือข้อมูลที่สมบูรณ์ เพราะบางอย่างเป็นจากการคาดคะเนของผมแบบอิงตามความน่าจะเป็น

ต้นตระกูลวัฒนายากร จากป้ายจารึกหน้าฮวงซุ้ยระบุว่าชื่อ ซิมบุ่นหงี่ ภรรยาชื่อ เหง่าซุนมก แต่จากเอกสารที่คุณรชฏ คณานุรักษ์ ได้นำมาเผยแพร่มีตอนหนึ่งที่คุณปู่ขุนธำรงพันธุ์ภักดี(ซุ่นจ่าย วัฒนายากร) เอ่ยถึงคุณปู่โฮ่เส้ง ซึ่งผมไม่แน่ใจว่า โฮ่เส้ง กับ บุ่นหงี่ จะเป็นคนเดียวกันหรือเปล่า แต่ปกติธรรมเนียมจีนโบราณเวลามีการสร้างฮวงซุ้ยให้ผู้ตายจะนิยมขนานนามผู้ตายใหม่ไม่ใช้ชื่อเดิมเมื่อมีชีวิต อาจจะเป็นไปได้ว่าเมื่อมีชีวิตท่านชื่อ ซิมโฮ่เส้ง พอตายได้รับการขนานนามว่า ซิมบุ่นหงี่

สำหรับ เหง่าซุนมก อันแซ่เหง่านี้จะมี ๒ สายสำคัญคือสายที่มาจาก ณ สงขลา กับสายที่มาจาก เหง่าฮกแช ที่เป็นต้นสกุลโกวิทยา แต่จากคำบอกเล่าของหลายท่านบอกว่า เหง่าซุนมก มาจากสาย ณ สงขลา เนื่องจากตอนที่ทำการย้ายฮวงซุ้ย ซิมบุ่นหงี่และเหง่าซุนมก จากถนนรามโกมุทไปที่ปะกาฮารัง พบว่าซิมบุ่นหงี่เป็นศพในโลง ส่วนเหง่าซุนมกเป็นกระดูกในโถ อาจจะเป็นได้ที่ เหง่าซุนมก มาจาก ณ สงขลา และมีความคุ้นเคยกับประเพณีวัฒนธรรมแบบไทยมากกว่าจีนจึงสั่งลูกหลานว่าเมื่อตายลงให้เผาแทนที่จะฝัง

จากป้ายจารึกหน้าฮวงซุ้ยระบุว่า ซิมบุ่นหงี่และเหง่าซุนมก มีลูกชาย ๒ คนคือ ซิมขุ้นฮวด และซิมฉุ้นฮวด มีลูกสาว ๒ คนคือ ซิมโง้ยกี และซิมซัวแต๋ แต่ข้อมูลที่ได้จากญาติพบว่ามีลูกสาว ๓ คน เมื่อไล่จากเอกสารของคุณปู่ขุนธำรงพันธุ์ภักดีจึงพบว่าคนที่ตกหล่นไปชื่อ ซิมกุยกี่

สรุปว่า ซิมบุ่นหงี่หรือซิมโฮ่เส้ง กับ เหง่าซุนมก มีลูก ๕ คนคือ
      ๑. ซิมขุ้นฮวด
      ๒.ซิมโง้ยกี
      ๓. ซิมซัวแต๋
      ๔. ซิมกุยกี่
      ๕. ซิมฉุ้นฮวด

คราวนี้มาว่ากันต่อรายตัวสำหรับชั้นที่ ๒
๑.  นายซิมขุ้นฮวด มีภรรยา แต่ไม่ทราบชื่อทราบแต่ว่าเป็นบุตรสาวนางเบ้งจูกับเถ้าแก่ว่อง ตัวนางเบ้งจู แซ่จุ่ง เป็นบุตรสาวเจ๋าโรงเหล้า เป็นพี่สาวของนางเบ้งซ่วน แซ่จุ่ง ภรรยาคุณพระจีนคณานุรักษ์ ไม่มีลูกสืบสกุล
๒.  นางซิมโง้ยกี่ แต่งงานกับนายเหง่าล้ายจอง โกวิทยา ลูกพี่ชายคนโตของนายเหง่าฮกแช สามีนางตันเบ้งจู นางซิมโง้ยกี่มีลูกสาว ๑ คนชื่อนางเหง่าโป้เฮี้ยว
๓.  นางซิมซัวแต๋ หรือที่เรียกกันว่า ป้าแต๋ เป็นหม้าย บางคนเล่าว่าต่อมาได้เป็นภรรยาของขุนพิพิธภาษี(เหง่าบั่นหลี โกวิทยา) ขุนพิพิธภาษีเป็นบุตรนายเหง่าฮกแชกับนางตันเบ้งจู (พี่สาวคุณพระจีนฯ) นางซัวแต๋ไม่มีบุตรธิดา ภายหลังนางซัวแต๋ อาศัยอยู่กับนายฉุ้นฮวด ผู้เป็นน้องชายที่บ้านตึกหลวงสุนทรสิทธิโลหะ(ตันจูเบ้ง)ภายในสวนหลังบ้านอาสมพร วัฒนายากร ปัจจุบันนี้
นางซัวแต๋ได้ชื่อว่าเป็นพวก "แซ่นิยม" คือรักหลานแซ่ซิมมากกว่าหลานแซ่ตัน จะเก็บผลไม้ดีๆไว้ให้หลานแซ่ซิม แต่เอาของสุกจัดใกล้เน่าให้หลานแซ่ตัน ฮิๆๆ เรื่องจริงนะนี่ พวกพ่อเขาเล่าให้ฟัง
๔.  นางซิมกุยกี่ หลังจากที่นางซิมโง้ยกี่ถึงแก่กรรม นายเหง่าล้ายจองจึงได้นางซิมกุยกี่เป็นภรรยาอีกคน มีลูกสาว ๑ คนชื่อนางเหง่าโป้เหี้ยง
๕.  นายซิมฉุ้นฮวด แต่งงานกับนางตันโป้เลี่ยง ลูกสาวหลวงสุนทรสิทธิโลหะ(ตันจูเบ้ง)และนางหนูจีบ ณ สงขลา ไม่มีลูกด้วยกัน ต่อมานางตันโป้เลี่ยงถึงแก่กรรมนายซิมฉุ้นฮวดจึงได้แต่งงานกับนางตันเป้าเลี่ยง น้องสาวนางตันโป้เลี่ยง มีลูกคือ
๕.๑ ขุนธำรงพันธุ์ภักดี(ซิมซุ่นจ่าย)
๕.๒ นางเสริมสุข(ซิมซุ่นขิ้ม)
๕.๓ นายซิมซุ่นหลิ่ม
๕.๔ น.ส.ซิมซุ่นหยอก
๕.๕ นางอวยพร(ซิมซุ่นเอ็ก)
๕.๖ นางดวงเดือน(ซิมซุ่นโอ๊ย)
๕.๗ นางเปรมจิตร(ซิมซุ่นเอ้ง)

ชั้นที่ ๓
ชั้นนี้เหลือที่มีลูกหลานต่อมาเพียง ๓ สาย เพราะนายซิมขุ้นฮวด และนางซิมซัวแต๋ ไม่มีลูก

สายนางซิมโง้ยกี่
นางซิมโง้ยกี่แต่งงานกับนายเหง่าล้ายจอง โกวิทยา สำหรับโกวิทยา หรือแซ่เหง่า จะมี ๒ สายสำคัญคือสายที่เกี่ยวข้องกับนางตันเบ้งจู และสายที่ไม่เกี่ยวข้องกับนางตันเบ้งจู ซึ่งจะขอเก็บไว้เล่าตอนท้ายของบทความนี้ ช่วงนี้ขอเน้นที่ วัฒนายากร หรือแซ่ซิมก่อนครับ
นางซิมโง้ยกี และนายเหง่าล้ายจองมีลูกสาว ๑ คน ชื่อ นางเหง่าโป้เฮี้ยว โกวิทยา นับว่าเป็นชั้นที่ ๓ ของวัฒนายากร
นางเหง่าโป้เฮี้ยว โกวิทยา แต่งงานกับนายเซียวฉุยชะ รัตนไพศาล เดิมใช้นามสกุล เซียวประชา มีลูกคือ
๑.      นายวิชุณห์(เต็งชุ้น) รัตนไพศาล
๒.      นางสมถวิล อิงคยุทธ
๓.      น.ส.หลั่น รัตนไพศาล
๔.      ศ.ทพ.เจน รัตนไพศาล
๕.      นางชูศรี โล่สุวรรณ
๖.      นายวิรุณห์(เต็งกี่) รัตนไพศาล
๗.      น.ส.ประทิน รัตนไพศาล
๘.      นายพงษ์พันธุ์ รัตนไพศาล

สายนางซิมกุยกี่
หลังจากนางซิมโง้ยกี่ถึงแก่กรรม นายเหง่าล้ายจองได้แต่งงานกับนางซิมกุยกี่ น้องสาวนางซิมโง้ยกี่ มีลูก ๑ คน คือนางเหง่าโป้เหี้ยง
นางเหง่าโป้เหี้ยง โกวิทยา แต่งงานกับนายตันขุ้นชุ้น หรือฉิ้นชุ้น ตันธนวัฒน์ มีลูกคือ
๑.      น.ส.ซ่วนลี้ ตันธนวัฒน์
๒.      นางสุธรรม(เหล่ง) ตันธนวัฒน์
๓.      พ.ต.มนู(เสี่ยง) ตันธนวัฒน์

สายนายซิมฉุ้นฮวด
เป็นสายเดียวที่สืบสกุล “วัฒนายากร” นายซิมฉุ้นฮวด วัฒนายากรแต่งงานครั้งแรกกับนางตันโป้เลี่ยง คณานุรักษ์ ลูกสาวหลวงสุนทรสิทธิโลหะ(ตันจูเบ้ง) และนางหนูจีบ ณ สงขลา แต่นางตันโป้เลี่ยงถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังไม่มีลูก นายซิมฉุ้นฮวดจึงแต่งงานใหม่กับนางตันเป้าเลี่ยง น้องสาวนางตันโป้เลี่ยง มีลูก ๗ คน แบ่งเป็น
๑.  สายขุนธำรงพันธุ์ภักดี
ขุนธำรงพันธุ์ภักดี(ซิมซุ่นจ่าย วัฒนายากร) แต่งงานกับนางสร้อยทอง (ตันซุ่ยถ้อง คณานุรักษ์) ลูกสาวขุนพิทักษ์รายา(ตันบั่นซิ่ว)และนางเซ่งขิ้ม มีลูกคือ
๑.๑ นายสารัตถ์ วัฒนายากร
๑.๒ นายภิญโญ วัฒนายากร
๑.๓ นายจำเริญ วัฒนายากร
๑.๔ นายมงคล วัฒนายากร
๑.๕ นายสมพร วัฒนายากร
๑.๖ นางโสภาพันธุ์(วัฒนายากร) สุวรรณจินดา
๑.๗ ด.ญ.วิไลพันธุ์ วัฒนายากร
๑.๘ นายสวัสดิ์ วัฒนายากร
๑.๙ นายวิโรจน์ วัฒนายากร
๑.๑๐ พล.ต.ต. นพ.วิบูลย์ วัฒนายากร
๑.๑๑ พ.ต.อ.วิวัฒน์ วัฒนายากร
๒.  สายนางเสริมสุข
นางเสริมสุข(ซิมซุ่นขิ้ม วัฒนายากร) แต่งงานกับนายอนันต์(ตันขุ้นขิ้ม) คณานุรักษ์ ลูกชายขุนจำเริญภักดี(ตันบั่นฮก)และนางอิ่ม มีลูกคือ
๒.๑ นายมานพ(ตันเอียงก้อง) คณานุรักษ์
๒.๒ นายสุนนท์(ตันเอียงเหล่ง) คณานุรักษ์
๒.๓ นายจำรูญ(ตันเอียงหยิ่น) คณานุรักษ์
๒.๔ นางละออง(ตันบี๋สิ้ม) คณานุรักษ์
๒.๕ นายประเวศ(ตันเอียงซิ่น) คณานุรักษ์
๒.๖ นายเติมศักดิ์(ตันเอียงจ่วน) คณานุรักษ์
๒.๗ นางละมุล(คณานุรักษ์) สาครินทร์
๒.๘ นางละม่อม(คณานุรักษ์) สมัครพันธุ์
๓.  สายนายซิมซุ่นหลิ่ม
นายซิมซุ่นหลิ่ม วัฒนายากร แต่งงานกับนางวไล(ตันซุ่ยเอี้ยน หรือมล คณานุรักษ์ ลูกสาวขุนพิทักษ์รายา(ตันบั่นซิ่ว)และนางเซ่งขิ้ม มีลูกคือ
๓.๑ นางประคอง วัฒนายากร
๓.๒ น.ส.ประไพ วัฒนายากร
๓.๒ นางประจวบพร(วัฒนายากร) โกมลตรี
๓.๓ นายศรีสุขสวัสดิ์ วัฒนายากร
๔.  สายนางอวยพร
นางอวยพร(ซิมซุ่นเอ็ก วัฒนายากร) แต่งงานครั้งแรกกับนายเสถียร(ตั้นขุ้นเถี้ยน) คณานุรักษ์ ลูกชายขุนจำเริญภักดี(ตันบั่นฮก)และนางอิ่ม มีลูกคือ
๓.๑ นายสมบูรณ์ คณานุรักษ์
๓.๒ นายสมจิตร คณานุรักษ์
ต่อมาแต่งงานกับ พล.ต.ต.อรรถพล สูยะโพธิ์ ไม่มีลูกด้วยกัน
๕.  สายนางดวงเดือน
นางดวงเดือน(ซิมซุ่นโอ๊ย วัฒนายากร) แต่งงานกับนายดิเรก(ตันซุ่ยเหรก) คณานุรักษ์ ลูกชายขุนพิทักษ์รายา(ตันบั่นซิ่ว)และนางเซ่งขิ้ม มีลูกคือ
๕.๑ นายกุศล คณานุรักษ์
๕.๒ พ.ญ.สุคนธ์(คณานุรักษ์) มุ่งการดี
๕.๓ นายพินิจ คณานุรักษ์
๕.๔ นางสุวรรณา(คณานุรักษ์) วัฒนายากร
๖.  สายนางเปรมจิตร
นางเปรมจิตร(ซิมซุ่นเอ้ง วัฒนายากร) แต่งงานกับนายสุรพันธ์(อึ้งเบ้งหิ้น) จงรักษ์ มีลูกคือ
๖.๑ น.ส.ทินประภา จงรักษ์
๖.๒ นายสามารถ คณานุรักษ์
๖.๓ นางอรนุช(จงรักษ์) แก้วใจกล้า
๖.๔ ทพ.ชัยชาญ จงรักษ์
๖.๕ นางอรวรรณ(จงรักษ์) ศรีกระจ่าง

เป็นอันว่าจบรายละเอียดเบื้องต้นของ “วัฒนายากร” ส่วนรายละเอียดชั้นต่อจากนี้ รอภาคต่อไป เมื่อได้ข้อมูลเพิ่มเติมสมบูรณ์

ภาคผนวก เรื่องของแซ่เหง่า “โกวิทยา”
ที่เมืองจีนมี ๓ พี่น้องแซ่เหง่า
คนโต มีลูกชาย ๒ คนชื่อ เหง่าล้ายบู๊ และ เหง่าล้ายจอง
คนที่ ๒ มีลูกชาย ๑ คนชื่อ เหง่าเถี้ยนหลอก แต่งงานกับ นางตันโบ้ยห้วย คณานุรักษ์ ลูกสาวหลวงวิชิตศุลกากร(ตันจูอิ้น) มีลูกชื่อ ซ่วนเฮียง ซ่วนซิ้ม ซ่วนหลุย ตงเอี่ยง ตงฉุ้น
คนที่ ๓ ชื่อ เหง่าฮกแช
นายเหง่าฮกแช มีเมีย ๒ คน เมียเมืองจีน มีลูกชาย ๑ คน มีหลานชาย ๓ คน หลานชายคนโต เป็นพ่อลุงวิเชียร โกวิทยา หลานชายคนที่ ๒ เป็นพ่อลุงโจ โกวิทยา หลานชายคนที่ ๓ ชื่อ ฮักเลี่ยม โกวิทยา

เมียเมืองไทย คือ นางตันเบ้งจู ลูกสาวหลวงสำเร็จกิจกรจาง(ตันปุ่ย) มีลูกชาย ๑ คน ชื่อ เหง่าบั่นหลี่ ได้เป็น ขุนพิพิธภาษี แต่งงานกับ นางตันกี่เลี่ยง คณานุรักษ์ ลูกสาวหลวงสุนทรสิทธิโลหะ(ตันจูเบ้ง) 

นางตันเป้าเลี่ยง และนายซิมฉุ้นฮวด

ขุนธำรงพันธุ์ภักดี(ซิมซุ่นจ่าย)
และนางสร้อยทอง(ตันซุ่ยถ้อง)
นายอนันต์(ตันขุ้นขิ้ม) และนางเสริมสุข(ซิมซุ่นขิ้ม)

นายซิมซุ่นหลิ่ม
แถวหน้าจากซ้าย นางอวยพร(ซิมซุ่นเอ็ก), นางเสริมสุข(ซิมซุ่นขิ้ม)
แถวหลังจากซ้าย นางดวงเดือน(ซิมซุ่นโอ๊ย), นางเปรมจิตร(ซิมซุ่นเอ้ง)
นางเหง่าโป้เฮี้ยว และนายเซียวฉุยชะ

วันศุกร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2559

เรื่องที่ ๙ เรื่องของตระกูลบนซองจดหมาย

ในช่วง ๑๐ กว่าปีที่ผ่านมา
ผมมีสภากาแฟอยู่ในโลกไซเบอร์
มีชื่อว่า ทิพย์สถานที่เราอยู่คือรูสะมิแล
เป็นกระทู้อยู่ในห้อง blueplanet เว็บพันทิป
ซึ่งคนตั้งกระทู้เป็นเด็กปัตตานี ใช้ชื่อว่า ขาJohn
เป็นผู้รอบรู้สารพัดคนหนึ่ง
เคยเล่นวิทยุสมัครเล่น รู้จักกันดีกับญาติเราที่ใช้ call sign ว่า
Hotel Sierra One Papa Delta Yankee (HS1PDY)
เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๕๑ ขาJohn เอารูปซองจดหมายหายากมาโพสท์
เป็นซองจดหมายจำนวน ๙ ซอง ที่ติดแสตมป์รูปรัชกาลที่ ๙
แต่ทั้ง ๙ ซองนี้ มีราคาประมูลอยู่ที่ ๑๖๐,๐๐๐ บาท
เพราะตราประทับเป็นตราประทับที่เป็นที่ทำการไปรษณีย์บนเรือเดินสมุทร
คนอื่นก็อาจจะดูเป็นของราคาแพงธรรมดา
แต่ผมสังเกตเห็น ๑ ในจำนวนนั้น มีชื่อผู้ส่งน่าสนใจมาก
ชื่อผู้ส่งเป็นภาษาอังกฤษ เขียนว่า

TAN BEE CHIANG
SAIBURI
Siam



ผมรู้สึกสังหรณ์ใจว่าชื่อนี้น่าจะเกี่ยวข้องอะไรกับผมบ้าง
ผมรีบหาข้อมูลทันที
เป็นความโชคดีของผมที่พอผมโทรศัพท์หาพ่อผม
ถามว่าเคยได้ยินชื่อ ร้านตันบี๋เชียง หรือเปล่า อยู่ที่สายบุรี
พ่อผมตอบมาทันทีแบบไม่ลังเลว่า ทำไมจะไม่รู้จัก
เป็นชื่อร้านของ ปู่ขุนอนุพันธุ์ภักดี(ฮกกุ่ย คณานุรักษ์)

ไม่น่าเชื่อว่าจากการสังเกตอะไรนิดหน่อย
ทำให้ผมสามารถเก็บเกี่ยวข้อมูลของตระกูลได้เพิ่มเติม

ผมไม่แน่ใจว่าลูกหลานสายตรงของปู่ขุนอนุพันธุ์ภักดี
จะรู้จักชื่อ ตันบี๋เชียง กันหรือเปล่า

เหมือนกับที่ผมไม่แน่ใจว่าลูกหลานสายตรงของปู่ขุนธำรงพันธุ์ภักดี(ซุ่นจ่าย วัฒนายากร)
จะรู้จักชื่อร้าน HUP SOON และ SIM SOON CHYE Co.Ltd. กันหรือเปล่า

ช่วยกันเก็บเรื่องราวของบรรพบุรุษไว้นะครับ
วันนี้อาจจะไม่มีประโยชน์สำหรับคุณ
แต่สักวันหนึ่งจะมีคนที่ต้องการประโยชน์จากข้อมูลเหล่านี้ครับ