วันจันทร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2559

เรื่องที่ ๑๓ เมื่อผมได้ทุนดูงานจาก JICA ตอนที่ ๑

ชีวิตนี้ผมไม่เคยคิดไม่เคยฝันว่าจะได้รับทุนไปต่างประเทศเหมือนคนอื่น เพราะไม่เคยเข้าคอร์สกวดวิชาภาษาอังกฤษแล้วไปสอบเหมือนคนอื่น
แต่เหมือนโชควาสนาจะกำหนดไว้ว่าครั้งหนึ่งในชีวิตผมต้องไปต่างประเทศด้วยทุนอะไรสักอย่าง

ช่วงเดือนมกราคม ๒๕๕๖ มีการติดต่อมาจากสำนักงานองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น หรือที่รู้จักกันในชื่อว่าไจก้า JICA ว่าจะมีคณะจากญี่ปุ่นมาขอดูงานเรื่องการบริหารจัดการกองทุนโรคไตว่าสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) บริหารจัดการเรื่องนี้อย่างไรผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าถึงได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง
ปกติการมีคณะดูงานจากต่างประเทศแบบนี้เลขาธิการ สปสช. จะเป็นผู้ทำหน้าที่ต้อนรับเอง หรือไม่ก็มอบหมายให้รองเลขาธิการฯที่รับผิดชอบเรื่องนี้เป็นผู้แทน
แต่ครั้งนี้เลขาธิการฯ แทงหนังสือมอบให้รองเลขาธิการฯ รองเลขาธิการฯก็แทงต่อว่าไม่ว่างมอบที่ปรึกษาอาวุโส ที่ปรึกษาอาวุโสก็โทรศัพท์หาผมบอกว่าไม่เคยรู้เรื่องการบริหารกองทุนโรคไตมอบหมายให้ผู้อำนวยการจัดการไปเองแบบเบ็ดเสร็จก็แล้วกัน

เมื่อคณะเดินทางมาถึงผมในฐานะผู้จัดการแผนงานสนับสนุนระบบบริการโรคไตวายในขณะนั้นจึงต้องทำหน้าที่รับหน้าเสื่อต้อนรับคณะที่มาดูงานและบรรยายสรุป คณะที่มาในวันนั้นเป็นคณะเล็กๆภายใต้การนำของเลขานุการสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย และชาวญี่ปุ่นอีก ๒-๓ คน หนึ่งในนั้นคือ Mr.Shirokaze จาก Asahi Kasei Corporation ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าบริษัทนี้ทำเกี่ยวกับอะไร แต่หลังจากผมบรรยายสรุปวันนั้นคนที่ซักถามมากที่สุดคือนายคนนี้ และแกได้พูดถึงเทคโนโลยีใหม่ๆในญี่ปุ่นเกี่ยวกับเครื่องผลิตน้ำสำหรับใช้กับเครื่องไตเทียม และการผลิตบุคลากรที่เรียกว่า clinical engineering ซึ่งเป็นเหมือนคนที่ดูแลเครื่องมือต่างๆทางการแพทย์ แต่สามารถเจาะเลือดผู้ป่วย แทงเข็มเพื่อให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ หลังจากนั้นก็ร่ำลากันไป เจ้าหน้าที่ผมบอกว่าวันนี้ ผ.อ.นำเสนอและตอบข้อซักถามเป็นภาษาอังกฤษได้เยี่ยมโดยดูจากสีหน้าของคณะที่มา

จนถึงเดือนเมษายน ๒๕๕๖ ผมได้รับโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่ของ JICA ประจำประเทศไทยว่าทาง JICA ที่ญี่ปุ่นต้องการให้ผมเขียนใบสมัครเพื่อเข้าร่วมสัมมนาเรื่อง Seminar on Dialysis Technology in Japan ที่ประเทศญี่ปุ่น และส่งใบสมัครมาให้ทางอีเมล์
ผมยังงงๆว่าทำไมเขาถึงระบุตัวผม เพราะปกติเวลามีทุนอะไรมามักจะมาถึงสำนักงานแล้วสำนักงานจะเป็นผู้พิจารณาเองว่าให้ใครไป(ซึ่งไม่เคยถึงผมสักที ฮิๆๆ) ผมต้องนั่งกรอกใบสมัครประมาณ ๑๐ หน้า ที่มีลักษณะเหมือนการเขียนรายงานการปฏิบัติงานเป็นภาษาอังกฤษว่าผมมีประวัติความเป็นมาอย่างไรทั้งการศึกษาและการทำงานในอดีตจนถึงปัจจุบัน ภารกิจของ สปสช.คืออะไร และหน่วยงานที่ผมรับผิดชอบมีหน้าที่อะไรบ้าง ปัญหาและอุปสรรคของการทำงานนี้มีอะไรบ้างคิดว่าจะแก้ไขได้อย่างไร และสุดท้ายคือคิดว่าจากการไปเข้าร่วมสัมมนาครั้งนี้จะได้อะไรที่เป็นประโยชน์กลับมาใช้กับภารกิจที่รับผิดชอบ
หัวข้อไม่กี่หัวข้อแต่เด็กบ้านนอกจบเรียนโรงเรียนบ้านสะบารังแบบผมนี่นับว่ายากเอาเรื่องเลย นั่งใช้เวลา ๒ วันจึงเขียนเสร็จ ส่งใบสมัครกลับไปให้ทาง JICA ญี่ปุ่น ก็ต้องลุ้นระทึกอีกครั้งตอนที่ต้องให้ผู้บังคับบัญชาลงนาม ไม่รู้จะอนุญาตหรือเปล่าเพราะเป็นอะไรที่ไม่เหมือนปกติ เจ้าของทุนระบุตัวมาเลยว่าต้องเป็นผม เลขาธิการฯก็คุยกับรองเลขาธิการฯว่าจะเอาอย่างไรดี โชคดีที่เจ้านายเข้าใจเลยอนุญาต
หลังจากนั้นไม่นานทาง JICA ก็มีหนังสือตอบรับให้ผมเข้าร่วมสัมมนาดังกล่าวในช่วงเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๖

การติดต่อกับ JICA ทั้งญี่ปุ่นและไทยใช้อีเมล์ตลอด ไม่เคยต้องไปติดต่อที่สำนักงาน JICA ประเทศไทยเลย ทาง JICA ส่ง Training and Dialogue Program ซึ่งเป็นรายละเอียดของการสัมมนาว่ามีวัตถุประสงค์อะไรบ้าง ผู้เข้าร่วมสัมมนาต้องเตรียมอะไรบ้าง และโปรแกรมของแต่ละวันว่าทำอะไร พักที่ไหน ผู้ประสานงานที่ญี่ปุ่น และข้อมูลของเกาะ Kyushu และ Eastern Kyushu Medical Valley ตลอดจนข้อมูลของ JICA และหนังสือเชิญเป็นภาษาญี่ปุ่นสำหรับแสดงกับเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของญี่ปุ่น พร้อมกับให้เรากรอกข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพ พร้อมกับขนาดตัวส่งกลับไปให้เขา

จากข้อมูลที่ส่งมาจึงได้รู้ว่าการไปสัมมนาครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมจาก ๘ ประเทศ คือไทย เวียดนาม พม่า อินเดีย อินโดนิเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอัฟริกาใต้ ล้วนแล้วแต่เป็นประเทศกำลังพัฒนาทั้งนั้น คิดในใจดังๆว่าคราวนี้เราคงได้คุยกับเพื่อนจนเมื่อยมือเลย

จนใกล้ถึงกำหนด ทาง JICA ส่ง e-ticket มาให้เป็นของสายการบิน JAL สายการบินประจำชาติของญี่ปุ่น เป็นตั๋ว ๔ เที่ยวบินด้วยกันคือจากสุวรรณภูมิไป Narita และตั๋วภายในประเทศจาก Narita ไป Fukuoka และขากลับภายในประเทศจาก Miyazaki ไป Haneda และจาก Haneda ไปสุวรรณภูมิ พร้อมกับบอกว่าเมื่อถึง Narita จะมีเจ้าหน้าที่ JICA ถือป้ายมารอรับ และมีรายชื่อผู้เข้าร่วมสัมมนาจากประเทศไทย ๔ คน คือนอกจากผมแล้วยังมีคุณหมอจิโรจ สินธวานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์, คุณหมอสกานต์ บุนนาค หมอโรคไตจาก รพ.ราชวิถี และคุณหมอไกรวิพร เกียรติสุนทร หมอโรคไตจากศิริราช ค่อยใจชื้นขึ้นมาหน่อยว่าอย่างน้อยมีเพื่อนคนไทย

จนถึงวันเดินทาง วันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๖ ผมก็เป็นกะเหรี่ยงลากกระเป๋าเดินทางใบใหญ่ ๑ ใบ สะพายกระเป๋าโน๊ตบุ๊คและของใช้ที่จำเป็นและเสื้อผ้าสำรอง ๑ ชุดไปที่สนามบินสุวรรณภูมิ check in ที่เคาน์เตอร์ของสายการบิน JAL เมื่อผ่านกระบวนการเรียบร้อยเจ้าหน้าที่ให้บัตร ๑ ใบบอกว่าผ่าน ต.ม.แล้วเชิญไปนั่งที่ Sakura JAL Lounge  ผมถึงได้รู้ว่าได้นั่ง Business class เป็นบุญก้นจริงๆ หยิบ e-ticket ที่ JICA ส่งให้ถึงได้รู้ว่าเขาบอกไว้ว่า Business class แต่ผมอ่านข้ามไปเอง ดูราคาค่าตั๋วไป-กลับ ๔ เที่ยวบินรวมกันปาเข้าไป ๘๗,๕๐๐ บาท นี่ถ้าให้จ่ายเองคงแย่เลย เลยรีบไปผ่านกระบวนการออกนอกประเทศของ ต.ม.ซึ่งไม่ยุ่งยากเพราะใช้หนังสือเดินทางราชการ แล้วไปนั่งเต๊ะจุ๊ยใน Sakura JAL Lounge ที่ไม่รู้ว่าชีวิตนี้จะมีโอกาสได้เข้าไปนั่งอีกเมื่อไหร่

...เดี๋ยวไปต่อตอนที่ ๒ กันนะครับ...


หนังสือเชิญจาก JICA เป็นภาษาญี่ปุ่น สำหรับแสดงกับ ต.ม.ญี่ปุ่น

กะเหรี่ยงนั่งรอใน Sakura JAL Lounge

เป็นครั้งแรกที่ได้สัมผัส Business class

มีอะไรก็ไม่รู้เยอะแยะไปหมดให้ผู้โดยสารใช้ระหว่างเดินทาง

นอนสบายไปเลย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น